กว่าพันชีวิตพร้อมใจแสดงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติ ร.10 สุดยิ่งใหญ่!

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่เวทีกลางแจ้งและหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดการแสดงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 28  กรกฎาคม  โดยมี นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำวธ. ให้เกียรติชมและมอบช่อดอกไม้แสดงความชื่นชมและยินดีกับผู้ควบคุมวงดนตรีไทยที่เข้าร่วมแสดงในครั้งนี้  พร้อมด้วย ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดวธ. ที่ปรึกษาโครงการการแสดงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติฯ นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีสวธ. ร่วมชมการแสดง

ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดวธ. ที่ปรึกษาโครงการการแสดงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติ  กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วธ.โดยสวธ. จัดโครงการการแสดงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติขึ้น ในวันที่ 28 กรกฎาคมด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทรงมีความสนพระทัยเรื่องความเป็นมาของเพลงไทยทุกเพลง ดังที่ได้ตรัสถามที่มาของเพลงไทยทุกเพลงที่วงดนตรีไทยกรมศิลปากรบรรเลงถวาย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นมิ่งมงคลแก่เหล่านักดนตรีไทยอย่างหาที่สุดมิได้ จึงได้มีการจัดการแสดงดนตรีไทยขึ้น นอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติแล้ว ยังเป็นการส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติด้านดนตรีไทย อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป

“การแสดงดนตรีไทยครั้งยิ่งใหญ่นี้  โหมโรงด้วย เวทีกลางแจ้ง  เปิดเวทีด้วย “เพลงโยสลัม” บรรเลงโดยวงเยาวชนดนตรีไทย  ต่อด้วยการบรรเลงปี่พาทย์ไม้แข็ง ในเพลง โหมโรงม้ารำ และเพลงตะลุงศรีธรรมราช โดยโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต  จากนั้นเป็นการแสดงดนตรีไทย โดยนักดนตรีผู้หญิงล้วน ในเพลงภาษา โดยโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ต่อด้วย การแสดงดนตรีไทยวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลงโหมโรงแว่นเทียนชัย และ เพลงนกกระจอกทองเถา โดยโรงเรียนมัธยมสังคีต  และปิดท้ายเวทีกลางแจ้ง ด้วยการแสดงวงมโหรีพิเศษ โดยโรงเรียนบ้านจันทึง  จ.ชุมพร นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีไทยในแบบยิ่งใหญ่ อลังการ  ณ  เวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เริ่มด้วย การรำถวายพระพร โดยนักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จากนั้นเป็นการแสดงช่วงที่สำคัญ คือ การบรรเลงดนตรีไทยวงมหาดุริยางค์ เพลงโหมโรงทศรัตน์กษัตรา ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งใหม่  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่10 โดย ครู อาจารย์ดนตรีไทยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 300 คน ร่วมสร้างประวัติศาสตร์บรรเลงดนตรีไทยในแบบวงใหญ่ครบเครื่อง  ต่อด้วยการเล่นประชันในแบบวงปี่พาทย์ไม้แข็ง โดยวงศิษย์พิบูลย์ธรรม กรุงเทพฯ ประชันกับวงประคองศิลป์ สุพรรณบุรี และปิดท้ายการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ด้วย การบรรเลงดนตรีไทยวงมหาดุริยางค์ เพลงเต่ากินผักบุ้ง โดยวงนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ที่มา:มติชนออนไลน์