หมอแฮร์ริสเผยชื่อยาที่ใช้กับทีมหมูป่า ทำให้ไม่รู้สึกตัว แพทย์อื่นชี้เหมือนปีนเอเวอเรสต์ทางการแพทย์

ภาพจากทวิตเตอร์ @PochinRos

มื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์โพสต์เฟซบุ๊กเล่าว่าหมอริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย ผู้ร่วมภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่าจากถ้ำหลวงได้ไปพูดในการสัมมนาแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย โดยเล่าถึงรายละเอียดการนำตัวทีมหมูป่าออกมา โดยเปิดเผยว่าได้ใช้ยาชนิดใดบ้างที่ทำให้เด็กๆและโค้ชไม่รู้สึกตัวระหว่างนำตัวออกมา

ผศ.ดร.วรัชญ์ระบุว่ารายละเอียดดังกล่าวน่าจะเผยแพร่ได้เพื่อเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงแล้ว

“หมอ Harris เผยรายละเอียดปฎิบัติการถ้ำหลวง Dr. Richard Harris ฮีโร่ถ้ำหลวง ได้ไปพูดที่งาน Swan Trauma ที่ออสเตรเลีย เกี่ยวกับรายละเอียดการนำตัวหมูป่าออกจากถ้ำ ดังนี้ ยาที่ใช้คือ 0.5mg Alprazolam กินทางปาก จากนั้นฉีด Ketamine, 5mg/kg เข้ากล้ามเนื้อ และฉีดเพิ่มอีก 2-4mg/kg ระหว่างทางโดยนักดำน้ำที่ไม่ใช่แพทย์ ด้วยเข็มฉีดยาที่เตรียมไว้แล้ว และยังฉีด Atropine เพื่อป้องกันภาวะน้ำลายออกมากเกินไป (hypersalivation) ซึ่งเชื่อว่าทุกคนน่าจะไม่รู้สึกตัวระหว่างปฎิบัติการณ์ครั้งนี้ อ่านแล้วคิดว่าน่าจะให้เผื่อไว้เลย จากคลิปสั้นๆที่ตัดมาจากในงาน Dr. Harris ได้บอกว่า เด็กคนสุดท้ายของวันแรก มีอาการติดเชื้อที่ปอด และเด็กบางคนมีระยะเริ่มต้นของปอดบวม (ดังนั้นถ้าไม่รีบออกมา อาจจะอันตรายมาก)

“หมอแฮร์ริสเป็นคนฉีดยาให้เด็กๆ โดยก่อนฉีด ซีลไทยได้อ่านรายละเอียดที่หมอไทยเขียน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. หมอจะให้กินยาเม็ดที่ทำให้มึนๆ เคลิ้มๆ (น่าจะหมายถึง Alprazolam ไม่รู้ภาษาไทยเขียนว่าอะไร แต่หมอ Harris ใช้คำว่า feel funny) 2. ให้ลงมาจากเนินทีละคน นั่งบนตักหมอ แล้วหมอจะฉีดยาให้ที่ขาสองข้าง 3. จากนั้นจะหลับไป แล้วตื่นขึ้นมาบนเตียง

“หมอแฮร์ริสบอกว่า เด็กๆฟังแล้วก็พยักหน้าอือๆ ไม่ได้แสดงอาการตื่นตกใจอะไร (หมอแฮร์ริสคิดว่าเด็กๆน่าจะไม่เข้าใจรายละเอียดถึงความเสี่ยงของปฎิบัติการณ์ ซึ่งก็ดีแล้ว หมอ Harris ใช้คำว่า Ignorance is bliss หมายถึง ความไม่รู้คือความสุข) โดยเด็กๆลงมาทีละคน ที่เหลืออยู่ข้างบนเนินกับซีล จึงไม่เห็นว่าเพื่อนเป็นอย่างไร (ถ้าเห็นอาจจะกลัวได้)”

หมอแฮร์ริสยังอธิบายไว้อีกว่าก่อนปฎิบัติการณ์จริง มีการทดสอบให้เด็กลองสวมหน้ากากแล้วหมอแฮร์ริสกดหัวเด็กลงไปให้ทดลองหายใจในน้ำ ซึ่งหมอแฮร์ริสบอกว่ารู้สึกผิดมากที่ต้องทำแบบนี้และต้องขอโทษด้วย แต่เป็นข้อมูลว่า ไม่ได้ทำอย่างเดาสุ่ม มีการวางแผนในกรณีต่างๆอย่างรอบคอบ

ADVERTISMENT

“เดวิด ไรท์ หมอดมยาชาวออสเตรเลียอีกคนได้ทวิตว่า มีการคาดการณ์น้ำหนักเด็กคนสุดท้ายผิด จริงๆหนัก 29 กก. แค่คาดการณ์ว่าหนักกว่านี้ และหน้ากากและชุดสวมไม่พอดี ทำให้น้ำเข้าไปได้ และตอนออกมาจากถ้ำ อุณหภูมิร่างกายเพียงแค่ 29 องศาเซลเซียสเท่านั้น

“ฟังแล้วน่าทึ่งและน่านับถือหัวใจคุณหมอมากๆที่กล้าหาญ กล้าเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ นักดำน้ำต่างชาติ รวมทั้งซีลไทยทุกนาย และผู้รับผิดชอบกล้าที่ดัดสินใจ เชื่อใจการเตรียมแผนทางการแพทย์เป็นอย่างดีแม้ว่าไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เรียกว่าเป็นปฏิบัติการที่เสี่ยงมากๆ แพทย์บางคนทวิตบอกว่าถ้าเป็นตัวเองคงไม่กล้าทำ เพราะไม่มีข้อมูลอะไรเลย น้ำหนักเด็กอ้างอิงจากน้ำหนักก่อนเข้าถ้ำ มีคนหนึ่งเรียกปฎิบัติการณ์นี้ว่าเหมือนการปีนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของการแพทย์ อีกคนเรียกว่าเป็น Hail Mary (เสี่ยงดวงหวังปาฏิหาริย์) และแทบทุกคนนับว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่สามารถลุล่วงไปโดยที่ทีมหมูป่าปลอดภัยทุกคน ขอบคุณ Dr. Harris มากๆ You are truly a hero!” ผศ.ดร.วรัชญ์ระบุ

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์