คพ.แจงประเด็นฝุ่นละออง 14 จังหวัดเกินค่ามาตรฐาน พร้อมเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีแก้ปัญหา

จากรายงานข่าวกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมวลค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุด ใน 14 เมืองทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ระบุค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ทั้ง 14 เมือง เกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตเมืองเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยนำค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน มาใช้ในการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ

วันที่ 10 สิงหาคม ​นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกได้ออกข้อแนะนำเรื่อง การกำหนดมาตรฐานของฝุ่นละอองทั้ง 2 ขนาด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่ง คพ.ได้ติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดจำนวน 63 สถานี ใน 33 จังหวัด และนำค่ามลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน มาใช้ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ต่อมาในปี 2548 องค์การอนามัยโลก ได้ออกข้อแนะนำเพิ่มเติม ในการกำหนดค่าเป้าหมายของค่ามาตรฐานเฉลี่ย 1 ปี กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็น 4 ระดับ ได้แก่ 35 25 15 และ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มก./ลบ.ม.) ขึ้นกับระดับการพัฒนาและความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะพิจารณานำค่าเป้าหมายไปปฏิบัติ และในปี 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ดำเนินการตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 1 ปี ไม่เกิน 25 มก./ลบ.ม. และเริ่มติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในปี 2554 ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็กแล้ว จำนวน 26 สถานี ใน 18 จังหวัด และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมทุกสถานี ในปี 2563

นายจตุพรกล่าวว่า จากรายงานข่าวกรีนพีซพบ 14 เมืองทั่วไทย มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกนั้น เมื่อ คพ.ตรวจสอบข้อมูลและประมวลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 1 ปี ตั้งแต่กรกฏาคม 2559 – มิถุนายน 2560 พบจังหวัดที่มีค่าเกินมาตรฐาน 6 จังหวัด โดยค่าที่ตรวจวัดอยู่ในช่วง 19-39 มก./ลบ.ม. ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหามลพิษทุกประเภท สำหรับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ได้ให้การสนับสนุนสถานีและเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยจะมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ให้ครอบคลุมในปี 2563 โดยระหว่างนี้กรมควบคุมมลพิษได้มีการพัฒนาระบบการรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศ และอยู่ระหว่างทดสอบระบบการรายงานผ่านแอพพลิเคชั่น AIR4THAI และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศและเครื่องมือตรวจวัดของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ให้เป็นไปตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการดำเนินงาน ลด และควบคุมการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อไป

นายจตุพรกล่าวว่า เพื่อให้การจัดการปัญหาคุณภาพอากาศเป็นรูปธรรมและเกิดประสิทธิผล คพ.จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งรวมถึงการจัดการปัญหาฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ด้วย โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ 2) ลดมลพิษทางอากาศในพื้นที่วิกฤต 3) ยุทธศาสตร์จัดการคุณภาพอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม (Co-Benefit) 4) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการปรับปรุงมาตรฐาน มาตรการเพื่อควบคุมการระบายมลพิษจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรม การลดการเผาในที่โล่ง รวมถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด เช่น การจราจร การคมนาคมขนส่ง อตุสาหกรรม การเผาในที่โล่ง โดยการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน มาตรฐานเครื่องยนต์ รวมถึงการประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น อปท. กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงสาธารณสุข ให้กำหนดมาตรฐาน มาตรการในการควบคุมและลดมลพิษทางอากาศต่อไป

อธิบดี คพ.กล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับมลพิษของแต่ละหน่วยงานและระดับพื้นที่ เพื่อบูรณาการการทำงานในการจัดการปัญหามลพิษ ซึ่งรวมถึงการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศด้วย โดยมีเบอร์สายด่วน Hotline 1650 ในการรับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาด้านการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา : มติชนออนไลน์