แนะทุนไทยร่วมรับผิดชอบ ‘เขื่อนลาวแตก’

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง “เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับ เรื่องของเรา” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

นายอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศลาว สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลลาวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจากประเทศยากจนได้ แต่นโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียเริ่มเห็นผลทางเศรษฐกิจในปีนี้ มีมูลค่าการส่งออกไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะที่ขายกับไทย ลาวมีการพัฒนาเศรษฐกิจเรื่อยมาทุกปี การซื้อขายไฟฟ้ากับลาวมีทั้งซื้อโดยตรงและซื้อผ่านผู้ผลิตอิสระ ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์ในแง่การลงทุนและซื้อไฟฟ้า

“จะเห็นภาพแพทย์ทหารจีนสามารถเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยในลาวได้ อาจเพราะลาวอึดอัดในบางเรื่องกับไทยอยู่ ปกติลาวไม่ค่อยเปิด แต่จีนเข้าไปลงทุนในลาวมาก ที่แตกต่างจากอดีตคือครั้งนี้ลาวให้หน่วยกู้ภัยไทยเข้าไปได้ ซึ่งพัฒนามาจากความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชน ส่วนเรื่องสื่อที่คนคิดว่าลาวยังปิดอยู่ แต่ส่วนตัวคิดว่าค่อนข้างเปิดกว่าทุกครั้ง เพราะมีความช่วยเหลือหลั่งไหลมามาก การจัดการต้องมีระเบียบ

“สิ่งที่ไทยควรทำต่อไปคิดว่าผลประกอบการที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในลาว ชาวบ้านควรจะได้ด้วย ไทยในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้าควรมองว่าการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกับในไทย เช่น อีไออี อีเอชไอเอ ควรจะมีเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องภาพลักษณ์ประเทศ โดยเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้รัฐควรเข้าไปช่วยผ่านหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เราสามารถช่วยเหลือได้ในการฟื้นฟูเรื่องการประกอบอาชีพและการเกษตร นอกจากนี้ควรมีการช่วยเหลือด้านการแพทย์และภาวะจิตใจผู้ประสบภัย แม้ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากเราโดยตรงเพราะเราเป็นผู้ซื้อ แต่เราก็มีส่วน และเชื่อว่าไม่มีใครกล้าฟ้องบริษัทที่สร้างเขื่อน แต่การฟื้นฟูอัตตะปือเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนใหญ่ประชากรเป็นลาวเทิง ค่อนข้างยากจนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาก”

นายอดิศรกล่าวอีกว่า เขื่อนนี้มีการกู้เงินจากแบงก์ไทยในการลงทุนที่ตนคิดว่าควรรับผิดชอบด้วย การให้เงินกู้ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง และโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ 270 กว่าล้านเหรียญสหรัฐจากเกาหลี เป็นโครงการใหญ่ ประธานาธิบดีเกาหลีจึงต้องออกมาแสดงความเสียใจ โดยเหตุเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในลาว

“เวลาทำวิจัยเรื่องการสร้างถนนหรือเขื่อน ชาวบ้านจะมองในแง่ดีว่าเข้ามาช่วยพัฒนาชีวิต หลังจากเหตุการณ์นี้สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในลาวคือคนลาวจะเริ่มทบทวนเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องโชคชะตาหรือกรรม เมื่อก่อนคนลาวมองว่าเวลาคนไทยประท้วงคือการขัดขวางการพัฒนา แต่มุมมองนี้จะเปลี่ยนไป ในความโชคร้ายคือจะมีความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ในอนาคต แต่นโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

“ลาวเองก็มีกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในโครงการขนาดใหญ่ แต่บางเขื่อนไปถามชาวบ้านแล้วพบว่าถูกไล่ที่มา 3 ครั้งแล้ว ชาวบ้านประท้วงก็ถูกจับ ชาวบ้าน 2 พันกว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นกลุ่มที่เคยถูกไล่ที่อพยพมาแล้ว นักลงทุนที่เข้าไปบางทีก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม เป็นชะตากรรมที่ไม่ยุติธรรม เขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะคนแก่และเด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” นายอดิศรกล่าว


ที่มา:มติชนออนไลน์