นักวิชาการชี้ ‘เขื่อนลาวแตก’ รู้ล่วงหน้าหลายวันแต่แจ้งเตือนช้า คาดไม่ใช่น้ำล้นสันเขื่อน พบรูปเขื่อนทรุด

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง “เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับ เรื่องของเรา” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เขื่อนมีทั้งประเภทเขื่อนคอนกรีตเพื่อต้านแรงดันน้ำ เขื่อนแบบอ่าง เขื่อนดิน ทั้งหมดออกแบบให้ปลอดภัยได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เขื่อนดินแบบที่ลาวจะมีราคาถูกถ้าบริเวณก่อสร้างหาดินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ เช่น มีความทึบน้ำ ทำให้น้ำซึมผ่านได้ไม่เร็วมาก ความแข็งแรงไม่ได้น้อยกว่าเขื่อนคอนกรีตถ้าออกแบบได้เหมาะสม เช่น เขื่อนสิริกิติ์ โดยมีทั้งประเภทดินเหนียวทั้งหมด, แบ่งโซนใช้หินเป็นเกราะ, แกนทึบน้ำ และแบบดาดคอนกรีต

“เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีปัญหาที่เขื่อน Saddle Dam D เป็นเขื่อนปิดช่องเขา ตอนที่เกิดข่าวก่อนเขื่อนแตก เมื่อน้ำล้นสันเขื่อน วิศวกรพยายามแก้ไขโดยเร่งระบายน้ำออกสปิลเวย์ ทำให้เห็นรูปที่มีน้ำพุ่งออกมาจำนวนมาก เขื่อนที่แตกมีหินเป็นเกราะปิดหน้าและท้ายเขื่อนเพื่อกันท่อนซุงไหลมากระแทก ทราบมาว่าเป็นชนิดเขื่อนเนื้อเดียว โดยทุกเขื่อนจะมีน้ำไหลซึมทั้งหมด แต่จะไหลซึมช้าๆ โดยมีตัวกันไม่ให้ดินไหลไปกับน้ำ โดยก่อนสร้างจะมีการนำดินไปทดสอบทางวิศวะโดยนำดินบดอัดเท่าจริงเพื่อดูว่าใช้งานได้จริงหรือไม่ หากไม่ได้จะต้องนำดินชนิดดีขึ้นมาผสมหรือเติมสารเคมีให้แข็งแรง

“เมื่อเกิดความเสียหายกับเขื่อนไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ความเสียหายที่อาจเกิดได้กับเขื่อนดินคือ เป็นหลุม มีรอยฉีกตามแนวสันเขื่อน มีรอยฉีกในแนวตั้งฉากกับแกนเขื่อน มีการสไลด์ที่หน้าเขื่อน โดยเกิดจากการบดอัดดินไม่ดี น้ำไหลซึมผ่านดินหลวมๆ จะเกิดช่องทางระบายน้ำทำให้ดินไหลไปกับน้ำ กรณีนี้จะเกิดหลุมบนสันเขื่อน หรืออีกกรณีถ้าชั้นดินปรับปรุงไม่ดี น้ำก็มีโอกาสวิ่งลอดตัวเขื่อน จะเจอน้ำผุดด้านท้ายเขื่อน ถ้ามีคนเฝ้าเขื่อนจะตรวจพบอาการนี้และแก้ไขได้เมื่อตรวจพบเร็ว เช่น ที่เกิดขึ้นกับเขื่อนมูลบนในไทย อีกกรณีคือ ดินที่รองรับเขื่อนไม่แน่น เมื่อสร้างเขื่อนแล้วเกิดทรุดตัว เขื่อนจะทรุดมีรอยแตกวิ่งขนานสันเขื่อน

“ส่วนที่น่าจะเกิดขึ้นคือ น้ำซึมไปออกด้านหน้าเร็วมาก เพราะฟิลเตอร์ไม่ดี ดินก็ไหลไปกับน้ำ จะใกล้เคียงกับที่เห็นในภาพข่าวที่ลาว เรียกว่าเป็นการแตกตามแนวสันเขื่อน เวลาออกแบบเขื่อนจะมีสถานการณ์ที่ต้องระวังหนึ่งในนั้นคือเมื่อเติมน้ำในเขื่อนครั้งแรกจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์และรีบตรวจสอบหากมีปัญหา ที่เกิดขึ้นในข่าวคือมีฝนตกมาก อาจมีการเติมน้ำเร็วมากและไม่ได้มีการเฝ้าระวังเมื่อเกิดรอยแตกทำให้รักษาไม่ทัน”

รศ.ดร.ฐิรวัตรกล่าวอีกว่า โครงการนี้ประกาศว่าก่อสร้างเสร็จในเดือนเมษายน 80-90% เร็วก่อนกำหนด 5 เดือน คาดว่างานโครงสร้างเสร็จแล้ว เหลือแต่งานระบบไฟฟ้า เขื่อนจึงน่าจะพร้อมรับน้ำได้แล้ว และเขาเริ่มทดลองเก็บน้ำตั้งแต่เดือน เม.ย. ข่าวออกมาวันที่ 24 ก.ค. ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีคนถ่ายรูปเขื่อนทรุดออกมาได้แล้ว ตอนแรกข่าวออกว่าน้ำล้นสันเขื่อน แต่เมื่อเห็นรูปเขื่อนทรุดแล้วไม่น่าใช่ โดยโครงการนี้มีเจ้าของโครงการ 4 แห่ง เป็นเกาหลี 2 แห่ง ผลิตไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้าง และมีบริษัทไทยด้วย บ.เกาหลี 2 แห่งให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เขาแจ้งว่า พบความเสียหายตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ทรุดหลายจุดขนาด 11 ซม. นั่นหมายความว่า รู้ตัวก่อน พอวันที่ 23 ก.ค.การทรุดตัวขยายเป็น 1 เมตร วิศวกรที่ดูแลโครงการทำบันทึกแจ้งเตือนทางการลาวให้อพยพคน รุ่งขึ้นก็เกิดเหตุตามข่าว

“ความเสียหายไม่เกิดฉับพลัน เขารู้ตัวก่อน แต่เป็นการบริหารจัดการในการเตือนภัย บางกรณีอาจไม่แจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพราะกระทบคนจำนวนมาก วันที่ 27 ก.ค. ทีวีเกาหลีเข้าไปถ่ายที่เขื่อนพบว่าน้ำเซาะเขื่อนไหลไปหมดเลยเหลือแต่ชั้นหิน แต่ผมไม่สามารถตัดสินแน่ชัดจากข้อมูลเท่าที่หาได้ เพียงแต่ดูว่าปัจจัยไหนน่าจะเป็นได้มากที่สุด หลังจากนี้จะมีคนเข้าไปตรวจสอบความเป็นไปได้ถึงสาเหตุที่แท้จริง อาจมีปัญหาเรื่องวัสดุที่ไม่เหมาะสมด้วย และแม้จะออกแบบดีแล้วก็มีเรื่องธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ โดยก่อนก่อสร้างต้องมีการประเมินความเสี่ยง หากเกิดความเสียหายจะอพยพคนอย่างไร โดยต้องตรวจสอบคุณภาพระหว่างก่อสร้างให้ดี”  รศ.ดร.ฐิรวัตรกล่าว

 

 


ที่มา  มติชนออนไลน์