“บิ๊กเต่า” ชู 4 มาตรการจัดการป่าไม้ ตั้งเป้าอีก 20 ปี ไทยมีป่าไม้ร้อยละ 55

“บิ๊กเต่า” ชู 4 มาตรการจัดการป่าไม้ ตั้งเป้าอีก 20 ปี ไทยมีป่าไม้-พื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ย้ำหน้าที่ดูแลธรรมชาติเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่รัฐบาล

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ แถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “การจัดการป่าไม้ไทยอย่างยั่งยืน” ความตอนหนึ่งว่า ทรัพยากรธรรมชาติคือมรดกล้ำค่าที่ต้องส่งต่อให้ลูกหลาน จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องรักษา ไม่ใช่วาระของใครคนใดคนหนึ่งหรือของรัฐบาล ตนตั้งหลักเช่นนี้มาเกือบ 3 ปีในการทำงาน และต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยนำเสนอเรื่องนี้ ทำให้กระแสไม่ตก รัฐบาลจึงสามารถเดินหน้าเรื่องรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้ต่อเนื่อง เช่น เรื่องไม้มีค่าที่รัฐบาลใช้เวลาผลักดันมาเป็นปี เมื่อจะทำก็มีข้อกังวลเรื่องการสวมตอ แต่รัฐบาลตัดสินใจว่าหากมัวกังวลกับคนไม่ดีก็เท่ากับหยุดโอกาสของคนดีทั้งประเทศ เราจึงต้องการส่งเสริมโอกาสของคนที่ปลูกป่าให้เดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ไม่เช่นนั้นจะเจอกรณีไม้พยุงล้มทับบ้านแต่ก็ยังไม่กล้าตัด แต่วันนี้ถ้ามีต้นไม้อยู่ในที่ดินที่ถือเอกสารสิทธิ์ครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินก็สามารถตัดได้ทันทีเพราะถือเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดิน

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีป่าไม้สมบูรณ์ประมาณ 102.4 ล้านไร่ คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติจึงกำหนดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือ พ.ศ.2580 ประเทศไทยควรมีป่าไม้และพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ต้องมีแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนด 4 มาตรการให้คนไทยทุกคนปฏิบัติ ดังนี้

1.การจัดการป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ กล่าวคือต้องมีแผนการปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้อย่างเข้มข้น มีการลาดตระเวนทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ การป้องกันไฟป่า มีสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง รวมถึงสร้างเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ป่า

2.การจัดการป่าไม้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เนื่องจากประเทศจำเป็นต้องมีสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน แต่การพัฒนาต้องคำนึงถึงสมดุลของการอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการคณะรัฐมนตรีว่าการขอใช้สถานที่ของทางราชการต้องเกิดให้น้อยที่สุด และการออกแบบก่อสร้างต้องทำให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมด้วย

3. การจัดการป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โจทย์คือจะแก้ปัญหาคนอยู่กับป่าได้อย่างไร รัฐบาลจึงต้องมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งนายกฯเป็นประธาน จัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนแบบแปลงรวม ทำให้รัฐได้ป่าประชาได้ที่ทำกิน นอกจากนี้ยังมีโครงการป่าชุมชนและพระราชบัญญัติสวนป่า 2558

4.การปฏิรูปการบริหารจัดการป่าไม้ ผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกือบ 70 ฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้ง 4 มาตรการจะทำให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และส่งเสริมให้คนไทยหันมาปลูกต้นไม้เพิ่มมากขึ้นทั้งเพื่อการอนุรักษ์และเป็นไม้มีค่า

 

ที่มา : มติชนออนไลน์