คาดเงินสะพัดช่วงวันแม่ 13,746.8 ล้าน สูงสุดในประวัติการณ์ เหตุปชช.มีความพร้อมในการใช้จ่าย

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนช่วงเทศกาลวันแม่ ปี 2561 คาดมีปริมาณเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 13,746.8 ล้านบาท สูงสุดในประวัติการณ์ ขยายตัวจากปีก่อน 5.3% และขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากประชาชนมีความพร้อมในการใช้จ่ายมากขึ้น จากความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะพาแม่ไปทำบุญ, ทานข้าว, เที่ยวต่างจังหวัดและซื้อของขวัญให้แม่ เป็นต้น

สำหรับของขวัญยอดฮิตที่จะให้แม่อันดับ 1 เป็นการให้เงินสดและทองคำ เฉลี่ย 7,788 บาทต่อคน มากกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 4,470 บาท รองลงมาเป็น ซื้อพวงมาลัยและดอกไม้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 325 บาท, เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย ค่าใช้จ่าย 1,612 บาท, เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ค่าใช้จ่าย 2,180 บาท, กระเช้าดอกไม้ 872 บาท, เครื่องใช้ไฟฟ้า 4,379 บาท, ซื้อโปรแกรมตรวจสุขภาพ 4,275 บาท, เวชภัณฑ์ 797 บาท และ ประกันชีวิตและสุขภาพ 4,109 บาท เป็นต้น

ส่วนการไปเที่ยวต่างจังหวัดคาดว่าจะไป 2-3 วัน โดยนิยมท่องเที่ยวในภูมิภาคของตนเอง จังหวัดยอดนิยมได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต ขณะที่ผู้ที่ไปเที่ยวต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยใช้เวลา 5-7 วัน เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเยอรมัน

“สิ่งที่คุณแม่ต้องการจากลูกมากที่สุด คืออยากให้ลูกเป็นคนดี รองลงมาคืออยากให้ลูกรักมากๆ และอยากให้ลูกกอด ส่วนสิ่งที่ลูกจะทำในวันแม่ คือการมอบดอกไม้และกราบเท้าแม่ สวมกอดแม่และบอกรักแม่ ทำตามสิ่งที่แม่เคยขอไว้ ส่วนกรณีที่ไม่ได้ไปพบแม่ในช่วงวันแม่ ส่วนใหญ่จะนิยมพูดคุยผ่านทางไลน์มากขึ้นถึง 55% รองลงมาเป็นการโทรศัพท์คุยกัน 30% และอื่น 15%”

นอกจากนี้ ยังสำรวจการวางแผนการเกษียณอายุเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พบว่า คนไทยมีการเตรียมตัวแล้วและมีความพร้อมมากขึ้นตามลำดับ เชื่อว่าหากมีข้อมูลข่าวสารที่ดีเชื่อว่าคนไทยจะมีความพร้อมมากขึ้น โดยพบว่าเริ่มมีการวางแผนเกษียณมากขึ้นเกินกว่า 50% โดยส่วนใหญ่วางแผนเกษียณไว้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป และพบว่า คนรุ่นใหม่เริ่มมีการวางแผนการเงินก่อนเกษียณอายุเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนซื้อประกันชีวิต/สุขภาพ การฝากเงินกับสถาบันการเงิน ลงทุนในกองทุนต่างๆ และลงทุนในพันธบัตร

“จะเห็นว่าคนไทยมีพฤติกรรมการออมเพื่อเกษียณมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คนเมืองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่า แต่สิ่งที่กังวลคือ อัตราการพึ่งพิงที่เริ่มเพิ่มขึ้น เพราะสังคมไทยเริ่มมีลูกน้อยลง ทำให้มีภาระในการดูแลครอบครัวเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันภาระทางการเงินส่วนบุคคลยังไม่มีปัญหาก็ตาม”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจที่มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 13,746.8 ล้านบาท ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ถือว่าบรรยากาศเริ่มกลับมาคึกคัก และมีการจับจ่ายใช้สอยและซื้อของนอกบ้านเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยเฉพาะการพาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการพร้อมใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่พบว่า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวแบบกระจายตัวดีขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น

“จากสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และดัชนีเอสเอ็มอีที่เริ่มมีสัญญาณบวกปรากฎขึ้นมาแล้ว จึงเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ มีโอกาสที่จะโตเกิน 4.5% ได้ เว้นแต่จะมีปัจจัยลบอย่างสงครามการค้าเข้ามากระทบ แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า ส่งออกไทยปีนี้ยังเติบโตที่ 8% ได้ บวกกลับสถานการณ์การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะคลายตัวดีขึ้นในช่วงเดือนต.ค.จึงยังเป็นฐานที่สำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจ”

 

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์