กรมชลประทาน แจงแผนบริหารจัดการน้ำเมืองเพชร ให้พ้นวิกฤตท่วมเมือง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ 3 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยวันที่ 11 สิงหาคม มีปริมาณน้ำ 730 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ของความจุอ่างฯ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำ ห้วยผาก ความจุ 27.50 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 14.2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42 % ของความจุอ่างฯ

อีกแห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ความจุ 47.20 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 11.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27% ของความจุอ่างฯ โดยในช่วงต้นฤดูฝนกรมชลประทาน ได้ติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ซึ่งสถานการณ์น้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 296 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 42% ของความจุอ่างฯ และวันที่ 18 กรกฎาคม มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 422 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุอ่างฯ ต่ำกว่าระดับควบคุม ในช่วงวันที่ 17 – 20 กรกฎาคม ได้เกิดฝนตกหนักทางเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 20 กรกฎาคม วันเดียว มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานมากถึง 160 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานได้ทำหน้าที่รองรับมวลน้ำปริมาณมหาศาลไม่ให้ไหลหลากลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีได้อย่างเต็มศักยภาพ

โดยกรมฯได้ทะยอยระบายน้ำออกจากเขื่อน วันละ 8.6 ล้าน ลบ.ม.เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้น้ำที่ระบายลงไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน แต่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ยังคงเพิ่มมากขึ้นวันละประมาณ 25-30 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเลยเกณฑ์ควบคุม หรือ 80% กรมฯจึงได้ติดตั้งกาลักน้ำ จำนวน 12 ชุด และเครื่องสูบน้ำ Hydro flow เริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม สามารถระบายน้ำจากอ่างฯเมื่อรวมกับการระบายผ่านช่องทางปกติ ได้วันละประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม มีน้ำไหลเข้าเขื่อน รวมกันแล้วมากถึง 565 ล้าน ลบ.ม.

ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำเต็มความจุที่ 710 ล้าน ลบ.ม. น้ำได้เริ่มล้นทางระบายน้ำล้น(Spillway)สูงประมาณ 1 เซนติเมตร ในเวลาประมาณ 10.00 น.วันเดียวกัน และล้นสูงสุดที่60 เซนติเมตร ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลาประมาณ 05.00 น. และมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานสูงสุด ในอัตรา 210 ลบ.ม./วินาที วันเดียวกัน ก่อนจะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานลดลงเหลือ 180 ลบ.ม./วินาที มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในเขต ต.สองพี่น้อง ต.ห้วยแม่เพรียง และต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน ,ต.กลัดหลวง และ ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนแก่งกระจาน จะไหลลงสู่เขื่อนเพชร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำสร้างปิดกั้นแม่น้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำสูงสุดไหลลงสู่บริเวณหน้าเขื่อนเพชร ในอัตรา 200 ลบ.ม/วินาที เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เวลาประมาณ 07.00 น และมีการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเพชรสูงสุดในอัตรา 125 ลบ.ม /วินาที เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 10.00 น. กรมฯ ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานและผันออกผ่านคลองระบายน้ำ D1 เป็นปริมาณรวม 70 ลบ.ม/วินาที

สถานการณ์น้ำเขื่อนเพชร ณ วันที่ 11 สิงหาคม มีน้ำไหลผ่านเขื่อนลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีในอัตรา 90ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยตัดยอดน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย – ฝั่งขวาและ คลองระบายน้ำ D.9 รวมทั้งสิ้น 70 ลบ.ม./วินาที โดยก่อนหน้าได้มีการพร่องน้ำหน้าเขื่อนเพชร ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในพื้นที่อ.บ้านแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำและได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ กรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง ในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง ในจุดเสี่ยงที่น้ำอาจเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยกองทัพเรือ และหน่วยทหารพัฒนา ได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ และ 6 ลำ ตามลำดับ บริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดทั้งนี้ พื้นที่ปลายน้ำในเขตต.บางครก อ.บ้านแหลม บางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำและจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง 20-30 เซนติเมตร ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรี ได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับพื้นที่สุ่มเสี่ยงติดแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองเพชรบุรี จะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน รวมถึงยังต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่องจ นกว่าจะถึงระดับเกณฑ์การเก็บน้ำสูงสุด เพื่อที่จะมีช่องว่างสำหรับรองรับน้ำตลอดจนสิ้นฤดูฝนนี้

ในส่วนของมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีระยะยาว นั้น กรมฯได้ดำเนินการขุดลอกและขยายคลอง เพื่อใช้ในการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยการปรับปรุงคลอง RMC3 เชื่อมคลองระบาย D.9 ความยาว 27 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีผลงานคืบหน้าร้อยละ 30 และอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบโครงการขุดลอกคลองอีก 2 เส้นทาง คือคลอง D.1 ความยาว 23 กิโลเมตร และ คลอง D.18 ความยาว 28 กิโลเมตร โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์​