‘บิ๊กป๊อก’ ร่ายยาว ปัดลูกชายไม่ได้เอี่ยวประมูลโรงงานกำจัดขยะ ขออย่ากล่าวหาลอยๆ

‘บิ๊กป๊อก’ ร่ายยาว ปัดลูกชายไม่ได้เอี่ยวประมูลโรงงานกำจัดขยะ ขออย่ากล่าวหาลอยๆ ถ้ามีข้อมูลให้ร้องหน่วยงานตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ถูกโจมตีว่ากระทรวงมหาดไทยรวบอำนาจ ดึงการแก้ไขปัญหาขยะมาดูแลว่า ขยะแต่ละปีประมาณ 27 ล้านตัน 1 ใน 3 ของจำนวนนี้ ไม่ได้มีการดำเนินการตามหลักการกำจัดขยะ กลายเป็นขยะตกค้าง ขณะที่ 2 ใน 3 ยังดำเนินการไม่ถูกต้องหรือยังเป็นแนวทางกำจัดที่ไม่ดี อาจจะนำไปฝั่งกลบโดยไม่ถูกวิธี ถือเป็นปัญหา เพราะจะตกค้างสะสมไปเรื่อย และไม่มีพื้นที่เพียงพอในการเก็บขยะ ส่งผลให้เกิดปัญหาในอนาคต ดังนั้น ขยะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกำจัดทุกวัน เพราะเกิดขึ้นทุกวัน 1 ปี 27 ล้านตัน ถ้าตกค้างก็จะมีขยะเพิ่มขึ้นทุกปี

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า โดยกฎหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล พัทยา จะเป็นผู้ดำเนินการกำจัดขยะ ซึ่งกฎหมายนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ตนเองเกิดมาก็พบว่าเทศบาลเป็นผู้เก็บขยะ ไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงอยากเรียนประชาชนให้รับทราบว่า ท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องขยะ และท้องถิ่นจะถูกกำกับโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล สามารถทำได้ตามภารกิจในสิ่งที่เห็นควรต้องทำ อย่างเช่นขยะถือเป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำ โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น รับผิดชอบ เพราะสองกลุ่มนี้จะเป็นผู้ให้บริการสาธารณะ ในนามนิติบุคคล ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยได้แต่กำกับดูแล ถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย หรือกฎระเบียบ จะไปยุ่งกับเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นผู้ทำ จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ แต่การดำเนินการทุกอย่างผู้บริหารต้องขอสภาท้องถิ่น และงบประมาณด้วย

“นี้คือการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกนำไปโจมดี ดังนั้น สรุปว่าขยะต้องกำจัด คนมีหน้าที่รับผิดชอบคือท้องถิ่น ทำในฐานะนิติบุคคล กระทรวงมหาดไทย ได้แต่กำกับ ซึ่งในวันนี้มีท้องถิ่นประมาณ 7,500 แห่ง ขณะที่กองขยะจากการสำรวจ พบว่ามี 2,810 กอง ถ้าให้ทั้งหมดนี้ตั้งโรงกำจัดขยะทั้งหมด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ ขณะเดียวกันขยะไม่พอเพียงที่จะกำจัดให้เป็นพลังงาน ซึ่งจะต้องมี 300 ตันต่อวัน จึงจะทำได้ ดังนั้น ท้องถิ่นเล็กๆ ต้องรวมกันเป็นกลุ่ม มหาดไทยจึงแบ่งเป็น 324 คัตเตอร์ โดยต้องการให้ทั้งหมดนี้กำจัดขยะให้ได้ โดยไม่มีขยะตกค้าง” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อท้องถิ่นเก็บขยะมาแล้ว ก็ไม่มีเงินที่จะไปจ้างโรงกำจัดขยะ เนื่องจากมีราคาสูง จึงหันไปใช้วิธีทิ้งหรือฝั่งกลบแบบเดิม ซึ่งมีราคาถูกกว่า จึงกลายเป็นปัญหาประเทศชาติต่อไป ซึ่งเจตนารัฐบาลต้องการให้นำไปเผา ซึ่งทางออกที่พอลดค่าใช้ได้คือ ถ้าเผาแล้วเป็นพลังงานไฟฟ้า ขายไฟฟ้าได้ ค่ากำจัดขยะก็จะลดลง แต่การลงทุนสร้างโรงกำจัดขยะ ต้องร่วมทุนกับเอกชน เพราะรัฐบาลไม่มีเงินให้สร้างโรงเผาขยะ 300 โรงได้เพราะค่าใช้ลงทุนสร้าง โรงละประมาณพันล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่รัฐบาลจะหาเงินให้ท้องถิ่นได้ และท้องถิ่นเมื่อลงทุนแล้ว ผลกำไรไม่ได้ย้อนมาที่รัฐบาล ดังนั้น ต้องลงทุนเอง

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยถูกโจมตีว่าอำนาจในการกำจัดขยะไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยต่อเนื่องมาจากการรวมอำนาจแล้วต้องได้ ขอยืนยันว่าอำนาจหน้าที่เป็นของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ก็ตามขั้นตอนหลังจากที่ท้องถิ่นรวมกันเป็นคัตเตอร์ และตกลงใจกันว่าจะทำลายขยะด้วยการเผา เป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่าย เขาจะต้องตั้งเรื่องมาที่คณะกรรมการสิ่งปฏิกูลจังหวัด โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาตามความเหมาะสมตามกระบวนการทั้งหมด เมื่อคิดว่าถูกต้องตามกระบวนการแล้วก็จะส่งมาที่คณะกรรมการเทคนิค เพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าดีหรือไม่อย่างไร ถ้าเห็นว่าถูกต้องก็จะส่งมาที่คณะกรรมการกลางโดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ยืนยันว่าในขั้นนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการที่จะมาดำเนินการใดๆ

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนการขออนุมัติสร้างโรงกำจัดขยะดังกล่าวจะได้หรือไม่เวลานี้ยังไม่มีใครตอบได้ ต้องขออนุมัติตามขั้นตอน เพราะกระทรวงพลังงานมีหลักเกณฑ์ที่ว่าถ้าจะสร้างโรงกำจัดขยะจะต้องมีการพิจารณาในขั้นตอนของท้องถิ่นให้เรียบร้อย เมื่อเรื่องมาถึงคณะกรรมการกลาง คณะกรรมการกลางอนุมัติเรื่องจึงจะมาถึงตนเอง เพื่อให้ความเห็นชอบ หากคุณไม่เห็นชอบตามที่เสนอเรื่องมา ก็จะต้องมีเหตุผลในการชี้แจง แต่ถ้าการดำเนินการของเขามาถูกต้องก็ต้องอนุมัติ หลังการอนุมัติเรื่องก็จะกลับลงไปสู่ท้องถิ่นเพื่อที่จะดำเนินการในขั้นตอนของการประกวดราคา หาผู้ร่วมลงทุน เมื่อได้บริษัทผู้ร่วมลงทุน ก็ต้องไปขอกระทรวงพลังงานว่าอยากจะขายไฟเพื่อให้กระทรวงพลังงานรับซื้อ เมื่อขอได้เรียบร้อยก็ต้องเร่งสร้างโรงกำจัดขยะ เพื่อผลิตไฟฟ้า เพราะไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะส่งไปไม่ทัน

“กรณีที่มีการโจมตีบุคคลในครอบครัวของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง กับการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะนั้น ยืนยันว่าครอบครัวไม่ได้ยุ่งเกี่ยวแน่นอน ลูกชายบอกว่าไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวหรือร่วมทุนกับใคร เรื่องนี้ไม่ใช่จะมากล่าวหากันลอยๆ ได้ถ้าคิดว่ามีข้อมูลก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ ประเทศชาติถ้ามีใครโกงต้องจับเข้าคุก ไม่ใช่มาด่าทอส่งเดช ขอแนะนำว่าอย่ามาโจมตี ควรจะไปบอกหน่วยงานที่เขามีอำนาจในการตรวจสอบและลงโทษ” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า สำหรับกฎหมายค่าเก็บขยะ ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ดั้งเดิมกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกกฎหมายตัวนี้ โดยมีอัตราเดิมอยู่ที่ 0-40 บาท แต่ท้องถิ่นบางแห่งไม่เก็บเลย ซึ่งการเก็บเงินไม่เพียงพอต่อการนำขยะมากำจัด ขาดทุนทุกปี ต่อมาเราคิดว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้คงไม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศเขาคิดว่าถ้าใครเป็นผู้ทำให้เกิดมลภาวะ สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือน้ำเสีย จะต้องเป็นผู้จ่าย ในบางประเทศจะจัดเก็บค่าน้ำประปา พร้อมเสียค่ากำจัดน้ำเสียไปด้วย แต่ประเทศเรายังไม่ได้ทำแบบนั้น รวมถึงเรื่องขยะด้วย จะต้องมีการดำเนินการตามความเป็นจริง ซึ่งได้มีการคำนวณมาแล้ว โดยตอนหลังได้มีการขอแก้พระราชบัญญัติการรักษาความสะอาด โดยขอให้เราเป็นคนคำนวณ ซึ่งการคำนวณแล้วใกล้เคียงกับที่กระทรวงสาธารณสุขคำนวณ ซึ่งเราคำนวณว่าค่าจัดเก็บขยะจนไปถึงที่กำจัดขยะ จะต้องจัดเก็บ 102 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และก็รู้ว่าการจัดเก็บดังกล่าวเกิดปัญหาแน่

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ฉะนั้น คิดว่าต้องค่อยๆ สร้างการยอมรับไปก่อน เพื่อให้คนยอมรับได้ โดยจะเริ่มต้นเก็บ 60 บาทในขั้นต้นไปก่อน เรื่องนี้ได้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยจะรณรงค์สร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องของการจัดเก็บขยะคัดแยกขยะ จนถึงการกำจัดขยะ แต่ช่วงเราออกกฎหมาย ปรากฏว่าในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเขาก็ได้ทำหลักเกณฑ์การจัดเก็บมาใหม่โดยเริ่มที่ 0 ถึง 65 บาท ทำให้ท้องถิ่นเก็บบ้างไม่เก็บบ้าง ซึ่งยอมรับว่ากฎหมายสองหน่วยงานนี้ซ้อนกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าในส่วนของท้องถิ่นมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็สามารถที่จะจัดเก็บตามตัวเลข 102 บาท ซึ่งไม่ได้รวมค่ากําจัดอีก 65 บาทที่เราไม่คิด แต่ตอนนี้คงต้องสร้างการรับรู้ก่อน และจะต้องเริ่มต้นเก็บที่ 60 บาท

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า หลายคนอาจจะมองว่าจะเก็บเงินตรงนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นการบริการของภาครัฐ แบ่งเงินส่วนนั้นคือภาษีที่มาจากประชาชน ซึ่งควรจะนำไปให้บริการอีกหลายส่วนกับประชาชน แต่ถ้านำเงินส่วนนั้นที่เป็นภาษีของประชาชนมาใช้ในเรื่องของการจัดเก็บและกำจัดขยะ ก็จะไปลดทอนในส่วนที่ภาครัฐจะต้องให้บริการด้านอื่น อย่างเช่นสวนสาธารณะหรือฟุตปาธและเรื่องอื่นๆ ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาเป็นปัญหาวังวน ประเทศไทยไม่อยากเสียภาษีแต่เรียกร้องที่จะอยากได้หลายอย่าง

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์