สทนช.เตือนพายุโซนร้อน “เบบินคา” เกิดฝนตกหนักเหนือ-อีสาน 15-18 ส.ค.นี้ เสี่ยงท่วมซ้ำ-น้ำหลาก-ดินโคลนถล่ม

สทนช.เตือนพายุโซนร้อน “เบบินคา” เกิดฝนตกหนักเหนือ-อีสาน 15-18 ส.ค.นี้ เสี่ยงท่วมซ้ำ-น้ำหลาก-ดินโคลนถล่ม ขณะที่ริมโขงยังต้องเฝ้าระวัง พร้อมเตรียมเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชลเป็น 5 ล้านลบ.ม. หลังคาดน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมอีก 2 วัน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 4/2561 ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งของประเทศจีนตอนใต้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) นั้น คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 ส.ค.61 ซึ่งจะทำให้ฝนตกชุกหนาแน่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยคาดว่าจะทำให้ฝนตกหนักสุดช่วงวันที่ 16-18 ส.ค.นี้

สำหรับจังหวัดที่ต้องระวังเป็นพิเศษช่วงที่ฝนตกหนัก เพราะอาจเกิดน้ำท่วมซ้ำ ดินโคนถล่ม และน้ำหลากได้ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดฝนตกราว 90 มิลลิเมตร (มม.) ต่อวัน ส่วนจังหวัดแถบภาคอีสานและภาคตะวันตกที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดตาก จันทบุรี เพชรบุรี และนครนายก อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมชลฯ ได้เร่งระบายน้ำในเขื่อนให้มากที่สุดเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงดังกล่าวแล้ว

“ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มโขงลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำจากประเทศลาวไหลลงแม่น้ำโขงลดลง แต่อิทธิพลจากพายุโซนร้อนเบบินคา คาดว่าจะทำให้ปริมาณโขงกลับมาเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นทีริมน้ำโขงยังต้องอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังต่อไป ได้แก่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แม่น้ำกระบุรี บริเวณ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และ อ.เมืองระนอง จังหวัดระนอง แม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา”

นอกจากนี้เขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมในช่วงสัปดาห์นี้ คือ เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก โดยปัจจุบันมีปริมาณนน้ำในเขื่อน 225 ล้านลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 73% ของความจุเขื่อน และวันนี้ (14ส.ค.) มีปริมาณน้ำไหลเข้าถึง 13 ล้านลบ.ม. ในขณะที่น้ำไหลออกมีเพียง 3 ล้านลบ.ม. จึงคาดว่าถ้าอีก 2 วันฝนยังตกในจังหวัดนครนายกอยู่เรื่อยๆ น่าจะทำให้น้ำในเขื่อนแตะถึงระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ดังนั้นสทนช.จึงเตรียมวางแผนเพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำนครนายกจาก 3 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5 ล้านลบ.ม. เพื่อเตรียมรองรับฝนที่จะตกลงมาและปริมาณน้ำที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนของลุ่มน้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อนสำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งที่มีปริมาณน้ำ ในอ่างเก็บน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ คือ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100% ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสำคัญ ๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญลำน้ำสายหลักเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่ฝนตกน้อยส่งผลให้แม่น้ำมูลตอนบนมีระดับน้ำต่ำ สำหรับภาคกลางและภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก ด้านแม่น้ำโขง ขณะนี้มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง เนื่องจากปริมาณน้ำจากประเทศลาวไหลลงแม่น้ำโขงลดลง แต่มีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เบบินคา” สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แม่น้ำกระบุรี บริเวณ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และ อ.เมืองระนอง จังหวัดระนอง แม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และพื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ