ถอดบทเรียนช่วย ‘ทีมหมูป่า’ ต้องจัดระเบียบสื่อ-ประสานงานเร็ว-อุทยานวางมาตรการป้องกันเข้มขึ้น

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม ที่โรงแรม เอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (ARR) จากเหตุการณ์ค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์มีผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการกู้ภัยในถ้ำที่มีน้ำท่วมสูงและมีความซับซ้อนมาก รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยปภ. จัดเวทีถอดบทเรียนการปฏิบัติการค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหาย บริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพลเรือน หน่วยทหาร มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล และประชาชนจิตอาสา จำนวน 80 หน่วยงาน รวมจำนวน 500 คน เข้าร่วมเสวนาถอดบทเรียนฯ ตามกลุ่มภารกิจ ภายใต้โครงสร้างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด แยกเป็น ศูนย์ประสานการปฏิบัติ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม ทำหน้าที่ประสานและให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อสาธารณชน ส่วนปฏิบัติการ ทำหน้าที่ปฏิบัติการค้นหาภายในและบริเวณโดยรอบถ้ำ รวมถึงพร่องน้ำ ระบายน้ำ และเบี่ยงเส้นทางน้ำ ส่วนอำนวยการ ทำหน้าที่ประสานสั่งการ และเชื่อมโยงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ และส่วนสนับสนุน ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ ทั้งในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ การจัดสถานที่ การสื่อสาร การแพทย์และพยาบาล และโรงครัวสนาม ทั้งนี้ ปภ.จะได้นำคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จและอุปสรรค ในการปฏิบัติงาน รวมถึงกำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัย สำหรับเป็นต้นแบบการกู้วิกฤตภัย และการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนนำองค์ความรู้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการสร้างองค์ความตระหนักรู้และปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสังคมไทยต่อไป

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการค้นหาผู้สูญหายใน วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ศอร.) กล่าวว่า รีวิว 1.ข้อกฎหมาย พ.ร.บ.สาธารณภัยที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ถือว่าถูกต้อง ครอบคลุม หากเด็กสูญหายไปเฉยๆ 13 คน ตนก็ยังไม่ทราบว่าจะประกาศเป็นภัยอย่างไร แต่เนื่องจากวันนั้นฝนตกต่อเนื่อง และน้ำท่วมถ้ำหลวง เราจึงประกาศภัยตามพ.ร.บ.นี้ได้ผ่านจังหวัด จากนั้น เป็นการประเมินสถานการณ์ก่อนประสาน ทร. และหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ การร้องขอผู้เชี่ยวชาญจากทั้งใน และต่างประเทศการขุดเจาะถ้ำสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องมีการขออนุญาต ซึ่งเราปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องทุกประการ 2.เราเชื่อว่าเด็กหายไปแน่ๆตอน 19.30 น. ของวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน ซึ่งวันที่ 2 ของการค้นหาฝนตกหนักมาก เครื่องมือ หรืออุปการณ์ต่างๆของปภ.มีจำกัด เหตุการณ์ในวันแรกๆทำให้เราได้บทเรียนว่าไม่ว่าจะเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การรีพอร์ตต้องเร็ว เพื่อระดมสรรพกำลังให้ได้อย่างรวดเร็ว 3.การเผชิญกับสถานการณ์ของนักวิชาการ และสื่อมวลชน สื่อมีหน้าที่หาข่าว และกรองภาพให้เร็วที่สุด แต่ไม่ได้กรองข่าว และภาพ สื่อแฮ็กวิทยุสื่อสารที่เราใช้ในถ้ำ และมีการส่งเสียงของเราออกไป เราช่วยเด็กวันแรกออกมา 4 คน แต่สื่อออกข่าวว่า 6 คน ปัญหาทางราชการเกิดขึ้นทันที เพราะเราส่งตัวเด็กเพียง 4 คน ก็มีคำถามว่าอีก 2 คน หายไปไหนทันที เราจึงต้องรีบจัดแถลงข่าวทันที นอกจากนี้ มีข่าวเรื่องไฟฟ้าชอร์ตคนตาย ทั้งที่เขาเป็นลมล้มในน้ำ เราตอบโต้ข่าวภายใน 10 นาที ซึ่งเร็วมาก ต่อมาคือนักวิชาการที่วิเคราะห์-วิจารณ์เรื่องวิธีการ และการปฏิบัติงาน เป็นไปได้ที่ทุกคนมีทฤษฎี แต่คนที่อยู่หน้างานจะรู้ดีที่สุดว่าวิธีใดดีที่สุด

พล.ต.ต.ชูรัตต์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า ภารกิจที่เราได้รับมอบหมายมาคือ 1.จัดระเบียบการจราจร โดยแรกๆให้จอดฝั่งเดียว มาเป็นปรับเป็นวันเวย์ สุดท้ายก็ยึดพื้นที่ทั้งหมด ห้ามจอด แล้วใช้จิตอาสารับ-ส่งแทน 2.จัดระเบียบสื่อ เจ้าหน้าที่ และประชาชน ก็มีทั้งการลงทะเบียน ขอความร่วมมือ ฯลฯ 3.ดูแลรักษาความปลอดภัยทักชีวิต และทรัพย์สิน เราได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ตามจุดต่างๆ และ 4.สนับสนุนการปฏิบัติงานในการค้นหาผู้สูญหาย ปัญหาคือ เราไม่มีข้อมูลดิบ การทำงานเรามีเพียงแผนที่ถ้ำเก่าๆ ตำรวจก็มาจากหลายหน่วยงาน พื้นที่ก็จำกัด วิธีการทำงานก็ต้องทำไปคิดไปเรื่อยๆ และเวลามีจำกัด รวมทั้ง เราทำงานแข่งกับสื่อ และสื่อเป็นปัญหามากที่สุด ย้ำ สื่อเป็นปัญหามากที่สุด แต่เราก็เอาอยู่ด้วยการขอความร่วมมือกัน

น.อ.ศุภชัย ธนสารสาคร รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการพิเศษทางเรือ (ซีล) กล่าวว่า ในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติงานจะมีงานย่อยๆ เราทำงานด่วน แข่งกับเวลา และทำงานกับสภาพที่ไม่คุ้นเคย เราเป็นนักดำน้ำในทะเล การดำน้ำในถ้ำก็จะมีศาสตร์ของมัน

นางพิชญา เมืองเนาว์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า เราต้องทำศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วมเพื่อบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร นี่คือขาที่ 1 ที่เราทำ ส่วนขาที่ 2 คือ เรามีสื่อในมือของเรา เราก็นำเสนอข้อมูลผ่านสื่อของเราด้วย ตนมองว่า ในเหตุการณที่เกิดขึ้นตรงนั้นพี่น้องสื่อก็น่ารักในแง่ที่แม้จะมีอุปสรรคข้อขัดข้อง แต่ทุกคนก็พยายามที่จะไม่ทำให้ตัวเองเป็นอุปสรรค ทุกคนต่างรอฟังข่าวดี ทุกคนยอมรับได้ทุกอย่างทั้งสภาพความเป็นอยู่ และข้อตกลงต่างๆ ทั้งนี้ การทำให้ข้อมูลต่างๆถูกต้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันในขณะที่สื่อเป็นพัน เราก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ไลน์กรุ๊ป ฯลฯ

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า หากเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การเข้า-ออกจะต้องมีการเช็คจำนวน หรือเช็คคนเข้า-ออก แต่พอเป็นวนอุทยาน เราไม่มีการเช็กตรงนี้ ดังนั้น ตอนที่น้องๆเข้าไป เราจึงไม่รู้ รวมถึงเวลาที่วัยรุ่น หรือชาวบ้านที่เข้าไปด้วย ตรงนี้จึงเป็นบทเรียนให้เรากลับมาทบทวนว่าเราต้องวางมาตรการป้องกันในเรื่องนี้อย่างไร หากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีอันตรายเราจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ ฐานข้อมูลก็มีความสำคัญ ทั้งเรื่องแผนผังถ้ำ การสำรวจทางธรณีวิทยา ทางน้ำ รูถ้ำ ไปจนถึงระยะทางของถ้ำ เราต้องดำเนินการเก็บรายละเอียด

นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า เราจะมีการประชุมกันเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการได้เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน ปภ.มีบทบาทหน้าที่หนึ่งคือ การเชื่อมความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน ความต้องการของพื้นที่ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เรารับฟังทั้งหมด แต่เรามีหน้าที่สแกน และคัดกรอง

 


ที่มา  มติชนออนลไลน์