กรมชลฯเร่งระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน คาดน้ำน่านไหลลงเขื่อนสิริกิติ์กว่า300ล้านลบ.ม.

กรมชลประทาน ใช้มาตรการเสริมเร่งระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ส่วนแม่น้ำน่านจากจ.น่าน จะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด คาดว่าจะมากกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนน้ำอูน ระดับน้ำในเขื่อนเริ่มลดลงแล้ว

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในระยะนี้ว่า ที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สถานการณ์ปัจจุบัน(18 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 751 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 32 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น(Spillway) 0.91 เมตร ได้เร่งระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ และกาลักน้ำที่ติดตั้งไว้ทั้งหมด 22 ชุด จากการติดตามระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน พบว่าบริเวณสถานีวัดน้ำ B3A อ.แก่งกระจาน มีน้ำไหลผ่านประมาณ 222 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 0.35 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเพชร วันนี้(18 ส.ค. 61)ที่รับน้ำต่อจากเขื่อนแก่งกระจาน ได้มีการผันน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 4 สาย ในอัตรารวม 72 ลบ.ม./วินาที และเปิดระบายลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตรา 124 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำที่สถานี B15 ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 0.82 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเสริมรองรับการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน อาทิ การเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองส่งน้ำในที่ลุ่มต่ำไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวและการเกษตร การเสริมกระสอบทรายจุดตลิ่งต่ำสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำ การเสริมตลิ่งคลองระบาย D9 ให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะใช้ Floodway จากคลองส่งน้ำสาย 1 ซ้าย สายใหญ่ 3 ผ่านพื้นที่นาประมาณ 750 ไร่ เพื่อระบายน้ำไปลงคลองระบายD18 ก่อนระบายออกสู่ทะเลตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว นอกเหนือจากมาตรการต่างๆที่กล่าวมา กรมชลประทาน ยังได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ และรถแบ็คโฮ เปิดทางน้ำผ่านจากคลองส่งน้ำลงสู่คลองระบายน้ำ ก่อนระบายลงสู่ทะเล จำนวน 19 จุด ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างก่อนออกสู่ทะเล กรมชลประทาน ยังคงเตรียมพร้อมเครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง ในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง ในจุดเสี่ยงที่น้ำอาจเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน 20 ลำ และ 6 ลำ ตามลำดับ บริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่ปลายน้ำในเขตต.บางครก อ.บ้านแหลม บางส่วนได้รับผลกระทบจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้นั้น ทางจังหวัดเพชรบุรี ได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง จะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพลทั้งหมด ปัจจุบัน(18 ส.ค. 61)เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างฯเพียง 7,812 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ น้ำที่ไหลเข้าอ่างฯในระยะนี้ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลเพิ่มมากขึ้น ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลหลากจากจ.น่าน จะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6,429 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนทั้ง 2 แห่งดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ยังจะทำให้เกิดเสถียรภาพการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้เป็นอย่างดี

ในส่วนของสถานการณ์น้ำที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 531 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของความจุอ่างฯ ยังคงระบายน้ำน้ำผ่านทางระบายน้ำล้นและกาลักน้ำ ลงสู่ลำน้ำอูนและแม่น้ำสงคราม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามลำดับ ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่ง และระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 1,130 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ ได้ลดการระบายน้ำเหลือวันละ 13 ล้าน ลบ.ม. เพื่อลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อนลำปาว ไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนที่อาจจะตกหนักลงมาในระยะนี้ รวมไปถึงให้ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของตนอย่างใกล้ชิด โดยควบคุมปริมาณน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลต่างๆ ไว้ประจำในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านท่านได้ตลอดเวลา หรือ สอบถามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460

 

ที่มา มติชนออนไลน์