‘จิสด้า’ ชี้เหนือคลี่คลายใน2-3วัน แต่ต้องเฝ้าระวังกลาง-อีสาน-ใต้ ถึงสิ้นปี

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กล่าวถึงกรณีเกิดพายุและฝนตกหนักทำให้หลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ว่า กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน และโดยปกติของช่วงฤดูกาลนี้ จะมีพายุที่ก่อตัวมาจากทางเวียดนามตอนเหนือ และ สปป.ลาว ลงมาด้วย ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้ลมแรงขึ้นจนเกิดเป็นลมมรสุม

“ลักษณะดังกล่าวนี้จะยิ่งทำให้ฝนตกและกระจายไปหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่เฉพาะทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังมีภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจุดที่มีเทือกเขาสูง เช่น จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ตาก เป็นต้น ส่วนภาคกลาง จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลมพัดผ่านไป แต่ก็จะมีฝนตกเช่นกัน เช่น อุทัยธานี นครสวรรค์ ฯลฯ นายอานนท์ กล่าวและว่า ความรุนแรงของพายุฝนครั้งนี้ จะมีต่อไปอีก 2-3 วัน หลังจากนั้นจะสงบลง

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังต่อไปจนถึงเดือนตุลาคมนี้ว่าจะมีพายุก่อตัวในทะเลแปซิฟิกอีกหรือไม่ เพราะจากการคาดการณ์ยังมีพายุก่อตัวอีกหลายลูก ดังนั้นต้องเฝ้าระวังว่าจะกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

“แต่ในส่วนของภาคเหนือนั้น โดยความเห็นส่วนตัว เชื่อว่าหลังจาก 2-3 วันนี้ จะเบาบางลงแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อไป ส่วนภาคใต้ต้องจับตาในช่วงปลายปี ทั้งนี้เรื่องการเฝ้าระวังสภาพอากาศนั้น ปัจจุบัน ถือว่ามีความทันสมัยมากขึ้น เพราะเราใช้ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาในการจับตาดูความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากดาวเทียมอุตุฯของต่างประเทศด้วย” นายอานนท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเกิดฝนตก มักเกิดน้ำท่วมน้ำหลากทันทีจนตั้งตัวไม่ทันเกิดจากสาเหตุใด นายอานนท์ กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีน้ำเก็บจนเกินขีดความสามารถ เกิดฝนตกต่อเนื่องจนดินรับน้ำไว้มาก มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่รับน้ำ เป็นต้น

“แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ปัจจุบันถือว่าการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาดีขึ้นมาก เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เคยมีหลายพื้นที่น้ำท่วมขัง แต่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขจนปัญหาเริ่มบรรเทาลง หรือแม้แต่ จ.เพชรบุรี ที่คาดว่าจะวิกฤต แต่มีการเตรียมความพร้อมจนปัญหาคลี่คลายลง เป็นต้น ส่วนกรณีตั้งถิ่นฐานในพื้นที่รับน้ำนั้น จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป” นายอานนท์ กล่าว

 


ที่มา  มติชนออนไลน์