จิสด้า เดินหน้าใช้ระบบ Geo-intelligence จัดการพื้นที่ รับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจิสด้าจัดสัมมนาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ด้วย Geo-Intelligence ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของกระบวนการผลักดันพัฒนาประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะมุ่งสู่การปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือ Actionable Intelligence Policy Platform หรือ AIP ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อก่อนเราเข้าใจว่า การมีภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถเอาไปอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ดูเรื่องป่าไม้ น้ำท่วม พื้นที่การเกษตร แต่นั่นเป็นวิธีการแบบยุคแรกที่เน้นการตอบโจทย์ในแต่ละเรื่อง แต่เราต้องยอมรับว่าปัญหาเชิงพื้นที่ของประเทศจริงๆ แล้วคือมีทุกเรื่องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่ผ่านมาวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละภาคส่วนจะมีนโยบายเป็นของตนเองซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันตามมา ภาคประชาชนอาจมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง หรือให้ความคิดเห็น จำเป็นต้องจำยอมรับสภาพไป

ดร.อานนท์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำไม่ได้เพราะว่าข้อมูลที่มีกระจัดกระจาย หลายครั้งที่ต้องลงไปเก็บ ไปตรวจวัด ไปทำสำมะโนประชากร สำรวจสถิติ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านรีโมทเซ็นซิ่งดีขึ้นเยอะ หลายๆเรื่องเราสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการประเมินได้ โดยอาศัยการคำนวณตามแบบจำลองต่างๆ แม้ว่าตัวเลขที่ได้มาอาจจะไม่ถึง 100% แต่เราก็ใช้ข้อมูลภาคพื้นดินที่ได้มาจากการสำรวจมาทำการตรวจสอบ ยืนยัน และแก้ไขร่วมกัน

สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือธีออส 2 ที่กำลังจะดำเนินการนั้น จะมีข้อมูลที่ได้จากรีโมทเซ็นซิ่งมากกว่าในอดีต ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพแต่จะได้ทั้งการประเมินในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาการขยายตัวของเมืองและชุมชน การบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และอีกหลายอย่างที่เราสามารถประเมินหรือประมาณหรือคาดการณ์ได้จากข้อมูลหลายๆ ส่วนมาประกอบกันดังนั้น การที่มีข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลายจะทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะในองค์รวมได้ ซึ่งภายใต้โครงการธีออส 2 ที่ทางแอร์บัสซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องมีการพัฒนาระบบนี้อย่างแน่นอน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทางแอร์บัสมีมาใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

ดังนั้น AIP จึงมีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ด้วยกัน 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนนโยบาย ในพื้นที่หนึ่งอาจจะมีนโยบายด้านแหล่งน้ำ นโยบายด้านการเกษตร นโยบายด้านสังคม ซึ่งต้องเอาทุกนโยบายเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อเชื่อมโยงให้ได้ว่านโยบายไหนอยากทำอะไร เช่น อยากทำถนน อยากสร้างพื้นที่อนุรักษ์ อยากทำพื้นที่สุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น

ส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนของกิจกรรมโครงการที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเกิดจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นไปตามนโยบายหรือไม่เป็น ดังนั้น ใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เราจะรู้ทั้งหมด เพราะจุดเริ่มต้นของ AIP คือเราต้องมีข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งอาจได้มาจากหน่วยงาน หรือบางส่วนก็ได้มาจากรีโมทเซ็นซิ่ง

ต่อมาคือส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่มีความสำคัญและใครๆ ก็พูดถึงกันมาก นั่นก็คือความยั่งยืน แม้แต่องค์การสหประชาติเองก็เน้นเรื่องของความยั่งยืน เน้นเรื่อง SDG ทำให้มีตัวชี้วัดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งวันนี้เราต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใส่ไว้ในระบบ

ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ 4 ภาคประชาชน คนที่อยู่ในพื้นที่นโยบายดี มีกิจกรรมโครงการดี มีตัวชี้วัดความยั่งยืนดีหมดเลย แต่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือเปล่า มีความพึงพอใจหรือไม่ คนไหนมีปัญหาหรือมีประเด็น ก็จะแสดงออกผ่านสื่อบ้าง ประท้วงบ้าง วันนี้เราจะให้พวกเค้าเข้ามาอยู่ใน platform นี้ โดยอาศัยสื่อ social media ซึ่งมีระบบที่สามารถจะไปวิเคราะห์ได้ เช่น เราอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งและเราวิจารย์เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ลงเฟสบุค ระบบก็จะไปดึงมาว่ามีคนวิจารย์เกี่ยวกับสถานที่นี้ว่าอย่างไรบ้าง ระบบนี้ไม่ได้ใช้มนุษย์ แต่เป็นการใช้ intelligence มาเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะเป็นการทำแบบ big data เข้ามาประกอบกัน

“สุดท้ายแล้ว ระบบก็จะนำเอาองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนที่ได้มารวบรวม และวิเคราะห์ ดูว่าสรุปแล้วปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องมีการทบทวนนโยบายหรือไม่ กิจกรรมโครงการอันไหนที่ควรทำ หรือยุบเลิก หรือต้องมีเพิ่ม หรือถ้าทำแบบนี้ แล้วจะได้อะไร ควรต้องมีอะไรมาช่วยสนับสนุนหรือช่วยเสริม ซึ่งเป็นรูปแบบของการประมวลผลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้กับหน่วยงานในระดับนโยบาย ก่อนจะถูกส่งต่อมายังหน่วยปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้ต่อไป”

ปัจจุบันเราเริ่มนำร่องการใช้งาน AIP ในพื้นที่ EEC และจังหวัดน่าน ซึ่งจิสด้าได้ร่วมลงพื้นที่และทำงานไปพร้อมกับหน่วยงานในพื้นที่ เรียนรู้ไปด้วยกัน แก้ไขปัญหาไปด้วยกัน สิ่งที่ยากที่สุดคือการที่เราต้องอธิบายให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาทำงานร่วมกับจิสด้าและนำเครื่องมือนี้ไปใช้ประโยชน์ ต้องมีความเข้าใจในแนวคิด และร่วม คิดสังเคราะห์ไปพร้อมกัน ทั้งในส่วนของระดับนโยบาย หน่วยปฏิบัติ และหน่วยติดตามที่เป็นเจ้าของข้อมูลทั้งหลาย และที่สำคัญคือภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย

“เวลาทำงานเรื่อง AIP เราจะใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ดังนั้น เวลาลงไปในพื้นที่เราจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานของทุกกระทรวงในแต่ละจังหวัด ดังนั้น หน่วยงานเหล่านี้ต้องเข้าใจว่าเครื่องมือนี้จะนำมาประยุกต์และใช้ประโยชน์กับพื้นที่ได้อย่างไร เพราะเค้าต้องเอาไปวิเคราะห์ดูว่า หากเอามาใช้ในพื้นที่จังหวัดของเค้าจะต้องมีองค์ประกอบอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เพราะแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ดังนั้น AIP ที่พัฒนาขึ้นจึงไม่เหมือนกันในทุกพื้นที่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AIP จึงต้องใช้เวลาในการร่วมพัฒนาไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง” ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าว


AIP ถือเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบและคิดขึ้นโดยจิสด้าที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรม แม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มมีการดำเนินการใน 2 พื้นที่นำร่องแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน