แก่งกระจานทำสถิติน้ำล้นอ่าง 109% ท่วมเหนือเขื่อนแล้ว 2 พันไร่

วันที่ 20 สิงหาคม แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท) เขื่อนแก่งกระจาน ยังคงมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น มีระดับน้ำอยู่สูงกว่าทางระบายน้ำล้น 1.40 เมตร และมีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักมาแล้วจำนวน 15 วัน โดยวันนี้มีน้ำล้นออกทางระบายน้ำล้น 336 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เขื่อนวชิราลงกรณ ยังคงมีน้ำไหลลงเขื่อนปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังคงระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำปกติ 42 ล้าน ลบ.ม./วัน มีกลุ่มเมฆหนาแน่นปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกปานกลางถึงตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา 124 มิลลิเมตร เพชรบูรณ์ 101 มิลลิเมตร จันทบุรี 82 มิลลิเมตร กระบี่ 76 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 61 มิลลิเมตร ตราด 61 มิลลิเมตร นราธิวาส 59 มิลลิเมตร นครนายก 59 มิลลิเมตร สงขลา 57 มิลลิเมตร น่าน 55 มิลลิเมตร ตรัง 49 มิลลิเมตร พิษณุโลก 48 มิลลิเมตร ชัยภูมิ 47 มิลลิเมตร แม่ฮ่องสอน 46 มิลลิเมตร ปัตตานี 43 มิลลิเมตร ภูเก็ต 42 มิลลิเมตร สตูล 36 มิลลิเมตร และยะลา 36 มิลลิเมตร

วาฟระบุว่า ปริมาณน้ำกักเก็บรวมทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 72 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 109 เป็นน้ำใช้การได้จริง 706 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำมีน้ำเกินความจุเก็บกัก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 36.10 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 25.45 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 90 เป็นน้ำใช้การได้จริง 4,972 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 86.84 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 42.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 876 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 102 เป็นน้ำใช้การได้จริง 484 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำมีน้ำเกินความจุเก็บกัก
เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 3.65 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 5.37 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 889 เป็นน้ำใช้การได้จริง 5,444 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 85.24 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 22.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 2,036 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 87 เป็นน้ำใช้การได้จริง 128 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 7.59 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 30 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 81 เป็นน้ำใช้การได้จริง 300 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 22.37 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 10.78 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 73 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 87 เป็นน้ำใช้การได้จริง 3,551 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 36.78 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 19.68 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 736 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 70 เป็นน้ำใช้การได้จริง 3,850 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 171.02 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 19.94 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 2,810 ล้าน ลบ.ม.

“สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานนั้นถือว่าค่อนข้างสูงมาก จากสถิตที่ผ่านมา พบว่า น้ำเคยมีน้ำล้นเกินปริมาณกักเก็บ หรือเกิน 100% ในเขื่อนแก่งกระจาน 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2546 มีปริมาณน้ำ 771.48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 108.66% และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ปริมาณน้ำ 102% และล่าสุด 20 สิงหาคม ปริมาณน้ำ 775 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% ถือเป็นปริมาณสูงสุด อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่านี้อีก”วาฟ ระบุ

วาฟระบุด้วยว่า เวลานี้น้ำไหลจากเขื่อนแก่งกระจานด้วยอัตรา 320-350 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ทำให้บริเวณหน้าเขื่อนแก่งกระจาน ไปถึงบริเวณหน้าเขื่อนเพชร มีปริมาณน้ำท่วมสะสม พื้นที่ราว 2,000 ไร่ ซึ่งบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมน้ำ เป็นรีสอร์ต อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำมาถึงบริเวณหน้าเขื่อนเพชร เขื่อนเพชรก็พยายามรั้งน้ำเอาไว้ส่วนหนึ่ง และกรมชลประทานก็สามารถเอาน้ำจากส่วนนี้ระบายลงคลองชลประทานได้อีก 90 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที จึงเหลือน้ำ ราว 210 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที นอกจากนี้ กรมชลประทานยังสามารถควบคุมน้ำไว้ไม่ให้ไหลเข้าตัวเมืองได้อีก 150 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ดังนั้นเวลานี้ จึงมีน้ำไหลเข้าพื้นที่ตั้งแต่เขื่อนแก่งกระจานถึงเขื่อนเพชร 60 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที

“พื้นที่ที่มีปัญหา คือ พื้นที่เหนือเขื่อนเท่านั้น สาเหตุเพราะฝนตกลงมาอย่างหนัก มีปริมาณฝนสะสมมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน น้ำเริ่มไหลลงเขื่อนสูงสุดตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ในปริมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร และไหลต่อเนื่องมาตลอด อย่างไรก็ตาม ปรากฏการน้ำในเขื่อนแก่งกระจานครั้งนี้ แตกต่างจากที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2559-2560 เพราะตอนนั้น ไม่ได้เกิดจากฝนตกเหนือเขื่อน แต่เป็นฝนที่ตกหนักในอ่าวไทย และลุ่มน้ำสาขา คือ บริเวณห้วยแม่ประจัน โดยฝนตกตั้งแต่ปลายเดือน ตุลาคม ทำให้น้ำไหลหลากจากพื้นที่ห้วยแม่ประจันลงสู่เขื่อนเพชรด้วยอัตรา 423 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เขื่อนเพชร ต้องระบายน้ำไปยังแม่น้ำเพชรบุรี 350 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจึงท่วมตัวเมืองเพชรบุรี และส่งผลกระทบไปยัง ถ.เพชรเกษม ซึ่งทำให้มีปัญหาการจราจรในเส้นทางสายหลักอย่างมากในขณะนั้น”วาฟระบุ

วาฟระบุว่า ช่วงวันที่ 20-22 สิงหาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและทะเลอันดามันยังคงมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังตงมีฝนตกต่อเนื่องต่อเนื่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จากนั้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้นโดยจะเริ่มพัดปะทะกับบริเวณภาใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจักลับมามีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 22 สิงหาคม

ช่วงวันที่ 23-26 สิงหาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะกลับมามีกำลังแรงขึ้นและพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งแนวรับลมมรสุมด้านตะวันตกของประเทศและภาคตะวันออก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์