“บิ๊กอู๋” กระทุ้งนายจ้าง เร่งพาแรงงานต่างด้าวประมง ม.83 ต่อใบอนุญาตทำงาน ย้ำไม่ขยายเวลา

รมว.แรงงาน เตือนนายจ้างเร่งพาแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล ตามมาตรา 83 มายื่นขอขยายเวลาทำงานต่ออีก 2 ปี ที่ศูนย์ OSS 22 จังหวัดชายทะเล ระบุตั้งแต่เปิดศูนย์ 20 ส.ค. จนถึงขณะนี้มีมายื่นเพียง 150 คน ย้ำรัฐบาลเปิดถึง 30 ก.ย.นี้ ไม่มีขยายเวลา

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยได้เปิดต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วออกไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งจะอนุญาตให้คราวละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – 30 กันยายน 2561 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดติดชายทะเล หรือสถานที่ที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดนั้น ปรากฏว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์วันที่ 20–22 สิงหาคม 2561 มีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอขยายระยะเวลาการทำงานเพียง 150 คน เป็น กัมพูชา 73 คน ลาว 3 คน เมียนมา 74 คน และกัมพูชา 62 คน โดยจังหวัดที่มีผลการดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับคือ 1. ชุมพร 2. สมุทรปราการ 3. สมุทรสงคราม

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการคือ 1. นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวกลุ่มตามมาตรา 83 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วไปตรวจสุขภาพ/ทำประกันสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ค่าใช้จ่ายจำนวน 2,100 บาท (ค่าตรวจโรค 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1,600 บาท) 2. นายจ้างพาแรงงานฯ ไปยื่นขอขยายเวลาการทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ประกอบด้วย 2.1 ตรวจคนเข้าเมืองทำหน้าที่ตรวจลงตรา (VISA) ค่าใช้จ่ายจำนวน 1,900 บาท 2.2 กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน (WORK PERMIT) ค่าใช้จ่ายจำนวน 1,000 บาท และกรมประมงออกหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว (SEABOOK) ค่าใช้จ่ายจำนวน 100 บาท รวมทั้งสิ้น 5,100 บาท


พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวย้ำให้นายจ้างเร่งพาแรงงานต่างด้าวมายื่นขอขยายเวลาการทำงานที่ศูนย์ OSS ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลโดยด่วน เพราะหากพ้นกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2561 ไม่มาดำเนินการ แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานอีกต่อไปได้ และรัฐบาลไม่มีนโยบายขยายเวลาให้อีกแน่นอน