กรมชลฯ วางแผนจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าระบบชลประทาน ป้องกันผลกระทบปชช.

ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น หลังได้รับอิทธิพลพายุ “เบบินคา” กรมชลประทาน วางแผนรับมือ พร้อมบริหารจัดการน้ำ ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับอิทธิพลจากพายุ “เบบินคา” ส่งผลให้ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากเป็นบริเวณตอนบนของประเทศไทย และกรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 23 – 28 สิงหาคม ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ วันเดียวกันนี้มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 52,068 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 28,524 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 60 สามารถรองรับน้ำได้อีก 18,881 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 15,514 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,818 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 9,357 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 654 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.63 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 275 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้วางแผนการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 21 – 26 สิงหาคม โดยเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำอัตราเฉลี่ยวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ วันละ 30 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน วันละ 1.30 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันละ 2.59 ล้าน ลบ.ม. สำหรับบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้ทำการแบ่งรับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 469 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ กรมชลประทานจะควบคุบระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยคงปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 700 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้ปริมาณน้ำไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมจะเริ่มลดปริมาณการระบายน้ำตามลำดับต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังเป็นไปตามแผนบริหารจัดการที่สามารถควบคุมได้และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตชลประทาน ซึ่งกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ตามแต่ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างหรือให้เกิดน้อยที่สุด รวมไปถึงการระบายน้ำออกจาก 4 เขื่อนหลัก เพื่อให้ระดับน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ควบคุม เตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในระยะต่อไป ซึ่งจะติดตามผลกระทบด้านท้ายเขื่อนควบคู่ไปด้วย พร้อมใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ

 


ที่มา มติชนออนไลน์