9 ก.ย.นี้ ห้ามโฆษณานมผงสำหรับทารก “คุณแม่ดารา” โพสต์ภาพคู่นมผงได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา สช.เจาะประเด็น “หยุด!! โฆษณา ฆ่าน้ำนมแม่” โดยนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.มิลค์โค้ด หรือ พ.ร.บ.นมผงได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งการโฆษณานมผงต่างๆ ยังคงทำได้เหมือนเดิม คือ ห้ามโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่นมผงสำหรับเด็กเล็กสามารถโฆษณาได้ตามปกติ แต่ต้องไม่เชื่อมโยงมายังนมผงสำหรับทารก ส่วนของการส่งเสริมการตลาดที่บริษัทนมผงเคยทำมาตลอด จะไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การติดต่อกับมารดาที่ตั้งครรภ์โดยตรง การแจกนมผงที่โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ เป็นต้น

“ขณะนี้กรมอนามัยได้ทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนแล้วถึง พ.ร.บ.มิลค์โค้ด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน และอยู่ระหว่างการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อออกประกาศลูกที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 10 ฉบับเพื่อกำหนดรายละเอียดบางอย่างให้มีความชัดเจน เช่น การบริจาคผลิตภัณฑ์นมผงให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข การจัดหรือการการสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากกฎหมายบังคับใช้วันที่ 9 กันยายน 2560 สิ่งที่ทำได้หรือไม่ได้ในกฎหมายฉบับดังกล่าว เบื้องต้นมีดังนี้ 1.ผู้ผลิต ต้องปรับเปลี่ยนฉลากผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนและแยกแยะโดยง่าย ระหว่างผลิตภัณฑ์สำหรับทารก เด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก แต่ล็อตผลิตภัณฑ์ที่ออกก่อนวันที่ 9 กันยายน 2560 ยังให้วางขายต่อไปได้เป็นเวลา 1 ปี 2.ผู้ใดก็ตามห้ามการโฆษณาอาหารสำหรับทารกคือ อายุ 0-12 เดือน แต่สามารถโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กคือ 1 ปีขึ้นไปได้ แต่ต้องไม่เชื่อมโยงมาถึงอาหารสำหรับทารก แม้จะโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กอายุ 1 ปีขึ้นไปได้ แต่ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังคงห้ามใช้เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบเป็นพรีเซนเตอร์เหมือนเดิม

ส่วนการส่งเสริมไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เช่น การแจกคูปองรับส่วนลด แจกอาหารตัวอย่าง ติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์หรือมารดาหลังคลอดโดยตรง เป็นต้น 3.บุคลากรทางการแพทย์ต้องไม่รับสิ่งของจูงใจ และให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อมารดาที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ และ 4.โรงพยาบาลไม่จัดกิจกรรมที่ให้บริษัทนมผงมาออกบูทภายในโรงพยาบาล

เมื่อถามถึงกรณีคุณแม่ดาราโพสต์ภาพนมผงจะเข้าข่ายผิดเหมือนการโพสต์ภาพคู่น้ำเมาหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในกฎหมายไม่ได้ห้ามโฆษณาแค่บริษัทนมผง แต่ใช้คำว่าผู้ใด ดังนั้น จึงหมายรวมถึงทุกคน จึงไม่สามารถโฆษณานมผงสำหรับทารกได้ แต่หากเป็นนมผงสำหรับเด็กเล็กก็สามารถได้ หากสามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็ก และต้องไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบมาร่วมด้วย ซึ่งหากโฆษณาผิดกฎหมายก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่ได้เอาผิดแค่ดาราแต่จะเอาผิดไปยังบริษัทด้วย

เมื่อถามถึงการลดราคาของนมผงสามารถทำได้หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายที่ห้ามการส่งเสริมการตลาด ที่รวมถึงการลดแลกแจกแถมด้วยนั้น หากเป็นการลดราคาโดยแสดงให้เห็นทั้งราคาเก่าและราคาใหม่ไม่สามารถทำได้ แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนราคาผลิตภัณฑ์ลงตามต้นทุนการผลิตที่ลดลงก็สามารถทำได้ แต่ต้องเปลี่ยนราคาที่ตัวฉลากเลย ไม่ใช่แสดงให้เห็นราคาเก่าและใหม่เปรียบเทียบกันว่าทำการลดราคา

 

ที่มา : มติชนออนไลน์