จ.ราชบุรีเตรียมแผน ‘กู้หัวรถจักร-ระเบิด’ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกร 8 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ได้เข้าหารือกับนายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ที่ห้องปฏิบัติงาน ศาลากลางจังหวัด เพื่อร่วมหาแนวทางการเก็บกู้ระเบิด พร้อมหัวรถจักรในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่ง รฟท.ได้จัดทำแผนโครงการประสานหน่วยงานทั้งทหารเรือ ทหารอากาศ ทหารบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการสำรวจพื้นที่ใต้น้ำว่ามีระเบิดจมอยู่กี่ลูก รวมถึงแผนความชัดเจนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งจำเป็นต้องเก็บกู้ระเบิด พร้อมหัวรถจักรที่จมอยู่ใต้น้ำเพื่อเตรียมก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการมีการปรับปรุงถนนเส้นทางเลียบทางรถไฟหลายจุด และกำลังจะมาถึงบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรีแล้ว

นายปัฐตพงษ์เปิดเผยข้อมูลว่า ระเบิดที่จมอยู่ใต้น้ำแม่กลองทราบว่ามีมานานแล้ว รวมถึงชาวราชบุรีก็ทราบเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คาดว่าน่าจะมีประมาณ 5 ลูก ซึ่งแนวก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่มีจุดที่ต้องเข้าไปทำการก่อสร้างตอม่อในแม่น้ำแม่กลอง จากตัวแนวระเบิดที่วางไว้จะมีแนวที่อยู่ใกล้ๆ กัน ที่จะต้องสร้างโครงการฯ ขณะนี้ รพฟ.เป็นเจ้าภาพได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับจังหวัด มีองค์ประกอบคณะทำงานหลักๆ เป็นกลุ่มกองทัพทหาร และผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้เชิญเข้ามาร่วม พร้อมเตรียมจัดประชุมเร่งด่วน ซึ่งก่อนหน้านั้นทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่ ครม.สัญจรพื้นที่ภาคใต้ ได้พูดเรื่องนี้พร้อมบอกว่าให้ดำเนินการโดยด่วน

สำหรับรถจักรที่จะกู้ขึ้นมานั้นจะนำมาจัดแสดงเคียงคู่กับสะพานที่ทาง รฟท.ออกแบบเป็นพิเศษ เกิดความสวยงามเท่ากับสะพานเดิม ทั้งนี้ ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะเตรียมการจัดประชุมหน่วยงานในวันที่ 10 กันยายน เป็นการประชุมคณะทำงานเป็นวาระเร่งด่วน คาดว่าอย่างช้าไม่เกินปีใหม่นี้ จึงจะตอบมาตรการที่เหลือออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน รวมทั้งจำนวนลูกระเบิดและหัวรถจักรที่จมอยู่ ส่วนลูกระเบิดเป็นของทหารอากาศ คนที่จะเก็บกู้ได้น่าจะเป็นทีมกองประดาน้ำและถอนทำลายใต้น้ำ ซึ่งเป็นทีมอมภัณฑ์ของกรมสรรพวุธทหารเรือ ที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการ

นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ทางญี่ปุ่นได้มีการซ่อมรางรถไฟตรงสะพานจุฬาลงกรณ์ที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเสียหาย ทางฝ่ายทหารญี่ปุ่นซ่อมแซมรางและทดลองเอารถจักรลำเลียงของกองทัพญี่ปุ่นแล่นผ่านทางที่ซ่อมแล้ว ปรากฏว่าทรุดตัวลงพังจมอยู่ใต้น้ำ จึงมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้กู้หัวรถจักรขึ้นมาจัดแสดง เป็นสิ่งบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของเมืองราชบุรี หลังจากที่ผ่านมาเคยมีการจัดทีมลงไปสำรวจใต้น้ำ มีการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ แต่สุดท้ายมีการพับโครงการดังกล่าวไป อาจจะเป็นข้อจำกัดด้านความยากลำบาก งบประมาณ และการเสี่ยงภัยระหว่างการกู้หัวรถจักร และกู้ระเบิดด้วยในสมัยสงครามโลกปี พ.ศ.2488

“ล่าสุดการทาง รฟท.ได้เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาในการก่อสร้างรถไฟทางคู่และจะแล้วเสร็จในปี 2563 โดยแนวเส้นทางจะคู่ขนานผ่านสะพานจุฬาลงกรณ์ และจะต้องทำรางใหม่คู่กันไป โดยจะต้องทำตอม่อสะพานและจะต้องเก็บกู้ระเบิดในตรงนั้นไปเพื่อให้การก่อสร้างไม่เกิดอันตราย ซึ่งได้แต่งตั้งให้นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับดูแลงานของกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบประสานการปฏิบัติงานกับ รฟท.และบริษัทผู้รับเหมา ซึ่งมีการประชุมหารือชั้นต้นมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อเตรียมการเรื่องนี้ เนื่องจากการก่อสร้างใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีจะแล้วเสร็จ ทางจังหวัดพร้อมจะสนับสนุนการดำเนินงานของ รฟท. และทางบริษัทผู้รับจ้างในการดำเนินการก่อสร้าง และเชื่อว่าน่าจะมีการเก็บกู้ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง และคงต้องจัดผู้เชี่ยวชาญดำสำรวจเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

“ส่วนวัตถุระเบิดนั้นยังไม่สามารถว่าใช้การได้หรือไม่ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า เป็นระเบิดตั้งแต่สมัยสงครามโลกแม้จะผ่านเวลาไปกว่า 70 ปีมาแล้ว ก็ยังมีอานุภาพอยู่ได้ จึงอยากแจ้งเตือนอย่าไปยุ่งเกี่ยวบริเวณใกล้ๆ ตอม่อสะพานจุฬาลงกรณ์ แต่ยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ จึงสั่งการให้ ปภ.จังหวัดแจ้งเตือนนายอำเภอเมือง เทศบาลเมือง ตำรวจภูธรจังหวัดให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ช่วงที่มีกระแสข่าวเกิดขึ้นมา เพราะยังไม่รู้ว่าระเบิดยังคงมีอานุภาพอยู่หรือไม่ ซึ่งได้พูดคุยกับ พล.ร.อ.นวพล ดำรงพงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ทราบเบื้องต้นว่า พื้นที่ราชบุรีอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมสรรพวุธทหารบก ซึ่งจะประสานรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประสานไปทางการรถไฟฯให้ประสานการปฏิบัติไปยังกรมสรรพวุธทหารบกเพื่อเตรียมการในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับแผนการปฏิบัติงานของการรถไฟฯจะมีและบริษัทผู้รับเหมาจะพร้อมดำเนินการเมื่อไหร่” นายชยาวุธกล่าว

นายชยาวุธกล่าวต่อว่า ส่วนแผนการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ใกล้สะพานนั้น พื้นที่จวนผู้ว่าฯอยู่ใกล้กับสะพาน ตราบใดที่ไม่มีคนเข้าไปวุ่นวายกับบริเวณนั้นก็ยังไม่มีความเสี่ยง ส่วนว่าระหว่างการเก็บกู้จะต้องประกาศเป็นเขตปลอดภัย หรือจะต้องอพยพประชาชนเพียงไรนั้น ยังไม่ทราบว่าวัตถุระเบิดเป็นประเภทใด และมีอานุภาพขนาดไหน จำเป็นจะต้องให้ทหารจากกรมสรรพวุธ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบมาแนะนำ ทางจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตพื้นที่จังหวัด เทศบาล คงจะได้ประกาศเป็นเขตป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงนั้นให้เป็นเขตปลอดภัย และจะเคลื่อนย้ายประชาชนไปตามความจำเป็น ส่วนระยะทางจะขนาดไหนต้องขึ้นกับอนุภาพของระเบิดนั้นด้วย

นายวีรัสกล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะทำงานร่วมกับ รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการดำเนินการต้องดูหลายเรื่อง เช่น กระแสน้ำ ความพร้อมของแต่ละทีม ถ้ามีความจำเป็นคงจะต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศที่เคยทำเรื่องนี้มาแล้ว ส่วนระเบิดบางลูกที่ไม่จำเป็นก็จะไม่แตะต้อง ถือเป็นเรื่องใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเขตเมืองเก่า จะทำอะไรต้องคำนึงถึงประกาศเมืองเก่าของรัฐบาลด้วยว่าการสร้างสะพานต้องทำเป็นสะพานเหล็กควบคู่ให้สวยงามและมีความปลอดภัย ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบ นอกจากนี้ ยังมีหัวรถจักรที่สมบูรณ์ก็จะนำขึ้นมา ซึ่งอยู่ในกรรมสิทธิ์ของ รฟท.อยู่ที่ว่าจะมอบให้จังหวัด หรือจะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนนักท่องเที่ยวได้มาศึกษาในอนาคต

ที่มา:มติชนออนไลน์