หมอจุฬาฯ หวั่นแก้ไข พ.ร.บ.ยา เอื้อร้านสะดวกซื้อ ขายได้สารพัดทุกวันนี้

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงเดินหน้าแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เนื่องจากมีการรวบรวมความคิดเห็น โดย อย.ระบุว่า จากการพิจารณาเห็นชอบในเนื้อหาทั้งหมดร้อยละ 90 ส่วนอีกร้อยละ 10 ไม่เห็นชอบ โดยเฉพาะประเด็นข้อกังวลให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ ไม่ใช่แค่เภสัชกร ซึ่งข้อเห็นต่างดังกล่าวจะไว้ไปพิจารณาและตั้งกรรมการหารือในอนาคต จากนั้นค่อยนำมาเพิ่มเติมในกฎหมายนั้น

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … เรื่องจะเพิ่มวิชาชีพที่จะสามารถจ่ายยาได้นั้น จริงๆ แล้วสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องให้เภสัชกรเป็นคนจ่ายยา ซึ่งจำนวนเภสัชกรไม่ได้ขาด แต่ก็น่าเห็นใจกับคลินิกเล็กๆ เพราะค่าประกอบวิชาชีพเภสัชกรสูง ดังนั้นในเรื่องนี้ก็สามารถให้พยาบาลเป็นคนจ่ายยาได้ โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งมีความสามารถจ่ายยาได้เป็นผู้ควบคุม แต่ทั้งนี้หากจะเพิ่มวิชาชีพในการจ่ายยาใน พ.ร.บ.ยาเลยนั้นเห็นว่าคนที่สามารถจ่ายยาได้ไม่ใช่เพียงแค่นับเม็ดยาแล้วให้ตามจำนวน แต่ต้องมีคุณสมบัติ สามารถรู้อาการของผู้ป่วยว่าทานยาอะไรอยู่ ซึ่งยาเดิมอาจจะไม่เหมาะสม ดังนั้นต้องสามารถหายาใหม่ที่เหมาะสมกับคนป่วยและปลอดภัยกับยาเดิมที่กินอยู่ได้ ซึ่งต้องมาตอบคำถามว่าวิชาชีพที่จะเพิ่มเข้ามา เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีความสามารถและมีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ หากตอบคำถามได้ตนก็ไม่ได้ขัดข้องที่จะเพิ่มวิชาชีพเหล่านี้ให้สามารถจ่ายยาได้ ซึ่งหากไม่ได้ก็อาจจะต้องมีการจำกัด

“ผมไม่ได้บอกว่าวิชาชีพใดเก่งไม่เก่ง แต่วิชาชีพแต่ละวิชาชีพมีความชำนาญแตกต่างกัน ซึ่งจะสามารถคัดเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้หรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้ทบทวนก่อน อย่าพึ่งบอกว่าใครจ่ายได้ ไม่ได้ และต้องตอบคำถามว่าเราต้องการให้คนป่วยได้อะไรที่ดี และปลอดภัยอย่างไร ไม่ใช่ว่าการแก้ พ.ร.บ.จะต้องไปเอื้อให้ร้านสะดวกซื้อที่ต้องการควบคุมธุรกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา โดยการให้วิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล ไปประจำในร้านยา เพราะไม่มีเภสัชกรไปประจำ เนื่องจากค่าประกอบวิชาชีพเขาก็สูงอยู่แล้ว” นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ด้าน ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงเช่นนี้ เนื่องจากประเด็นที่กังวลจะมีการค้างไว้ และตั้งคณะกรรมการเฉพาะมาพิจารณา โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือ

เมื่อถามว่ามีข้อกังวลเรื่องการแก้กฎหมายอาจนำไปสู่เปิดทางให้ร้านสะดวกซื้อขายง่ายขึ้น ภก.จิระกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่มีคนกังวล แต่หากพูดถึงกฎหมายปัจจุบัน และหากการแก้ไขอิงตามนี้ก็ถือว่าไม่น่ากังวล เนื่องจากทุกวันนี้การเปิดร้านขายยามีกรอบบังคับอยู่ ส่วนร้านสะดวกซื้อ หากจะมีร้านขายยาก็ต้องมีเภสัชกร ไม่มีไม่ได้ แต่ที่เห็นว่าไม่มี คือเป็นการขายยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งทำได้ แต่ข้อกังวลเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่สามารถห่วงได้ แต่ก็คิดว่ากรณีการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ยาขณะนี้เป็นที่จับตามอง จึงเชื่อว่า อย.จะดำเนินการอะไรก็น่าจะเปิดเผย เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหา

 

ที่มา : มติชนออนไลน์