“ผอ.รพ.จะนะ” โพสต์เหน็บ พ.ร.บ.ยาไทยถอยหลังเอื้อร้านสะดวกซื้อขายยาเอี่ยวผลประโยชน์เจ้าสัว

วันที่ 29 สิงหาคม นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาลบาลจะนะ จ.สงขลา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปรียบเทียบร้านขายยาในต่างประเทศกับ พ.ร.บ.ยาของประเทศไทย ระบุว่า APOTHEKE ของบ้านเขา กับ พ.ร.บ.ยา เพื่อเจ้าสัวของบ้านเรา สวิสเซอร์แลนด์ฝั่งตอนเหนือร้านขายยาจะมีป้าย Apotheke แต่ตอนใต้ที่ติดอิตาลีป้ายจะเขียนว่า Farmacia ระบบยาและร้านขายยาที่นี่มีหัวใจที่การคุ้มครองผู้บริโภคและตรวจสอบกันเองระหว่างวิชาชีพ

ในยุโรปรวมทั้งอารยะประเทศ ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรเต็มเวลาเท่านั้น จะให้คนอื่นวิชาชีพอื่นมาขายยาแทนไม่ได้ เภสัชกรก็จะจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น จะหยิบยาขายยาเองไม่ได้ ยกเว้นกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน นั่นหมายถึงเวลาไปหาหมอที่คลินิก หมอจะไม่มีสิทธิจ่ายยา หมอจะตรวจ วินิจฉัยโรค และเขียนใบสั่งยาให้คนไข้มารับยาตามสิทธิสวัสดิการหรือมาซื้อยาเกินสิทธิที่ร้านเภสัชกร แต่สำหรับผู้ป่วยในที่นอนโรงพยาบาลไม่มีปัญหา เพราะมีระบบตรวจสอบ และช่วยกันดูแลผู้ป่วยของสหวิชาชีพ

การจัดระบบร้านขายยาแบบนี้ เน้นการคุ้มครองผู้บริโภค หากแพทย์จะจ่ายยาแบบไม่สมเหตุสมผลเภสัชกรที่ร้านขายยาก็จะเห็น เภสัชจะจ่ายยาเองก็ไม่ได้ พยาบาลนั้นไปเยี่ยมบ้านหรือทำการพยาบาลที่บ้านก็แนะนำการกินยาให้ถูกต้อง คนไข้จะไปซื้อยากินเองก็ไม่ได้ เพราะยาไม่ใช่ขนม นี่เป็นการแบ่งหน้าที่ที่ลงตัว

กลับมามองประเทศไทย เรื่อง พ.ร.บ.ยาที่กำลังร้อน เพราะมีแนวโน้มที่แก้ พ.ร.บ.ยา เพื่อเอื้อเจ้าสัว คือให้วิชาชีพทางสุขภาพอื่นสามารถจ่ายยาได้ หมายความว่า ในร้านสะดวกซื้อที่กำลังขยายให้มีมุมเภสัชกรขายยาทุกมุมเมือง จะสามารถเปิดกว้างให้เจ้าสัวจ้างแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ จะลามถึงนักวิชาการสาธารณสุขด้วยหรือไม่ ให้มารับจ็อบขายยาที่ร้านเจ้าสัวได้ แน่นอนว่าเป้าหมายของร้านเจ้าสัวคือ กำไรสูงสุด จ้างค่าแรงคนขายยาในราคาถูกที่สุด ส่วนการคุ้มครองและความปลอดภัยของผู้บริโภคเอาไว้ทีหลัง

เป็นเรื่องตลก ที่บ้านเราลงมือแก้กฎหมายเพื่อเจ้าสัวกันเลยทีเดียว เพราะค่าแรงเภสัชนั้นจะทำให้มีกำไรที่น้อยเกินไป หากแก้ พ.ร.บ.ยาสำเร็จ ทิศทางระบบร้านขายยาของบ้านเราก็กำลังถอยหลังลงเหว แทนที่แก้กฏหมายแล้วระบบจะก้าวไปข้างหน้า ค่อยๆไปสู่ระบบแบ่งแยกหน้าที่ดั่งเช่นในอารยะประเทศ อนาถหนอประเทศไทย “ซื้อยาแล้วจะรับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มสักลูกไหมครับ” ยานะครับไม่ใช่ขนม

 

ที่มา มติชนออนไลน์