“เรืองไกร” ร้องนายกฯสอบตัวเลขจำนำข้าว ชี้ หน่วยงานรัฐให้ข้อมูลไม่ตรง-ไม่ได้ยุติจริง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 กันยายน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. และประธาน นบข. เรื่องขอให้ตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ออกมาชี้แจงผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวไปต่างๆนานา นั้น ทำไมจึงไม่ตรงกันและไม่มีข้อยุติ ดังนั้น ท่านในฐานะผู้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 176/2557 และคำสั่ง นบข. ที่ 2/2557 ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการหรือดำเนินการต่อไป อย่างไร หรือไม่

โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อความที่ผู้ว่า สตง. ชี้แจงเกี่ยวกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 นั้น เป็นเพียงการอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 เท่านั้น หาใช่การปิดโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดแต่อย่างใด ต่อมามีการจัดทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าวภายหลังการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 176/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ และมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจพิจารณาจัดทำบัญชีปริมาณข้าวคงเหลือของรัฐ ทั้งปริมาณการรับ ปริมาณการจ่าย โดยแยกตามชนิดข้าว และการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ได้ออกคำสั่ง นบข. ที่ 2/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาล ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ และมีรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่พิจารณาบริหารจัดการเงินกู้จนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ และสรุปภาระหนี้สิน ได้แก่ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาล รวมทั้งกำหนดแนวทางการจัดหาเงินทุนเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดังนั้น การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาล จึงมิได้มาจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 เพียงอย่างเดียวดังที่ผู้ว่า สตง. ชี้แจง ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่า สตง. ก็คงทราบดีอยู่แล้ว เพราะตอนที่เป็นรองผู้ว่าฯ ก็เคยเบิกความต่อศาลฎีกาถึงคำสั่ง นบข. ที่ 2/2557 มาก่อนแล้ว

โดยปรากฏในคำเบิกความพยานโจทก์ของนายประจักษ์ บุญยัง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 หน้า 36 โดยมีความส่วนหนึ่งว่า “และเมื่อทราบว่าคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ดำเนินการปิดบัญชีโครงการ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 แล้วเสร็จ สตง. จึงได้มีหนังสือ ที่ ตผ 0013/2944 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ถึง ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ขอสำเนารายงานการปิดบัญชีฯ ดังกล่าว ซึ่งอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้มีหนังสือ ธ.ก.ส. ลับ ที่ ฝนร/10499 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ส่งสำเนารายงานการปิดบัญชีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และสำเนารายงานการปิดบัญชีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 มาให้ สตง. ด้วย ปรากฏตามเอกสารการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาลตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ที่ 2/2557 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2557

จึงเห็นได้ว่าผู้ว่า สตง. รับทราบคำสั่ง นบข. ที่ 2/2557 มาก่อนแล้ว อีกทั้งจะเห็นได้ว่า สตง. ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบรับรองว่า รายงานการปิดบัญชีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และรายงานการปิดบัญชีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 นั้น ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี หรือไม่ ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่า ผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว สตง. ก็ยังไม่เคยมีการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานการสอบบัญชี แต่อย่างใด

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561 กรมบัญชีกลางเคยชี้แจงที่สรุปได้ว่า รัฐบาลมิได้ลงบัญชีเป็นรายโครงการนั้น อาจไม่ได้ได้มาจากการจัดทำบัญชีแต่อย่างใด เพราะไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของน.ส.แน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ คณะทำงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว มีข้อที่ชวนสงสัย คือ

1. ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ระบุว่า ข้าวเปลือกนาปี ปี 55/56 มีผลขาดทุน 220,460.12 ล้านบาท(รวม 2 รอบ) แต่ ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 กลับระบุว่า ข้าวเปลือกนาปี ปี 55/56 มีผลขาดทุน 217,605.94 ล้านบาท(รวม 2 รอบ) ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เหตุใด ผลขาดทุนจึงลดลง แทนที่จะเพิ่มขึ้นตามสภาพข้าวที่เสื่อมตามกาลเวลาเช่นเดียวกับฤดูกาลผลิตอื่น

2.ปริมาณปริมาณสต็อกข้าวคงเหลือ งวดสิ้นสุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีจำนวน 19.22 ล้านตัน มูลค่า 494,608.15 ล้านบาท และ วันที่ 30 กันยายน 2557 มีจำนวน 17.56 ล้านตัน มูลค่า 197,349.98 ล้านบาท แสดงว่า ปริมาณสต็อกลดลงเพียง 19.22 – 17.56 = 1.66 ล้านตัน แต่มูลค่ากลับลดลงถึง 494,608.15 – 197,349.98 = 297,258.17 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่า

ดังนั้น จากข้อมูลดังที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า คสช. สั่งให้ทำบัญชีโดยแยกตามชนิดข้าว แต่กรมบัญชีกลางชี้แจงว่า รัฐบาลมิได้ลงบัญชีเป็นรายโครงการ คณะทำงานปิดบัญชีระบุว่า จัดทำข้อมูลแยกเป็นรายโครงการและ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกไม่มีการจัดทำบัญชี จึงเป็นหลักฐานที่พิสูจน์เพิ่มเติมจากคำร้องก่อนหน้านี้ว่า โครงการรับจำนำข้าวที่กล่าวอ้างเรื่องการขาดทุนนั้น ข้อมูลมีความไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้น การนำผลขาดทุนดังกล่าวไปคิดคำนวณเป็นค่าเสียหาย แล้วออกคำสั่งเรียกจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงน่าเชื่อว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกันและยังไม่มีข้อยุติ ตนจึงเรียนมาเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ออกมาชี้แจงผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวไปต่างๆนานา นั้น ทำไมจึงไม่ตรงกันและไม่มีข้อยุติ ดังนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ผู้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 176/2557 และในฐานะประธาน นบข. ผู้คำสั่ง นบข. ที่ 2/2557 ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการหรือดำเนินการต่อไป อย่างไร หรือไม่

ที่มา มติชนออนไลน์