อย.ทำ 10 ข้อดีแก้ไขร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เน้นคุ้มครองประชาชนเพิ่มขึ้น

หลังจากเกิดข้อเห็นต่างการแก้ไขพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จนนำไปสู่ความเห็นแย้งของวิชาชีพ ล่าสุดกลุ่มเภสัชกรภาคส่วนต่างๆ ต่างทยอยออกมาคัดค้านกันอย่างต่อเนื่อง โดยกังวลว่า ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่จะเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นมาทำการปรุงยา จ่ายยา และทำให้ประชาชนรับความเสี่ยง

ล่าสุดเมื่อวันที่  3 กันยายน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้สรุป ยข้อดีของร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ.. จำนวน 10 ข้อ ซึ่งมุ่งเน้นคุ้มครองประชาชน ประกอบด้วย  1.กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายาแห่งชาติด้านยา และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทำให้เกิดความมั่นด้านยาของประเทศ 2.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านยา ประชาชนได้รับประโยชน์ 3.สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศ  เกิดการพึ่งพาตนเองด้านยาของประเทศอย่างยั่งยืน และสามารถลดการนำขเยาจากต่างประเทศ ประชาชนได้รับยาราคาถูกลง

4.ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทำให้มีทางเลือกการใช้ยาได้หลากหลายประเภท 5. กำหนดให้ร้านยาต้องมีเภสัชกรตลอดเวลาทำการ เพื่อจ่ายยาให้แก่ประชาชนอย่างถูกโรค และปลอดภัย 6.สามารถตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข อย่างเข้มงวดและมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน

7.มีการกำหนดโทษทางปกครอง เพื่อให้เป็นการป้องปรามและสามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วและเข้มงวด 8.เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้มีการต่อทะเบียนยาทุก 7 ปี เพื่อตรวจสอบยาที่ได้ต่อทะเบียน ซึ่งยังต้องมีประสิทธิภาพและไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย 9.เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาอนุญาตด้านยาให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วทันตามกำหนดเวลา และ10. มีการกำหนดประเภทวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาที่ทันสมัย เช่นเภสัชชีววัตถุ และเภสัชสมุนไพร ที่เพิ่มเติมมาจากเดิม เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพ และกรณีทีเกิดปัญหาด้านยามีผลกระทบต่อประชาชน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อที่กำหนดให้เภสัชกรอยู่ประจำร้านตลอดเวลาทำการ แตกต่างจากเดิมอย่างไร นพ.สุรโชค กล่าวว่า แตกต่าง เนื่องจากของเดิมกำหนดว่า 1 ร้าน 1 ชื่อเภสัชกร ทำให้ความเป็นจริงเภสัชกรไม่สามารถอยู่ได้ตลอดเวลาทำการทุกวัน และหลายร้านก็ใช้วิธีจ้างคนมาอยู่ที่ไม่ใช่เภสัชกร  แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะระบุไว้ว่า ไม่ว่าจะวันไหนต้องมีเภสัชกร และให้สามารถจ้างเภสัชกรมาประจำร้านได้ ซึ่งก็จะมีในกฎกระทรวงด้วย อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ยา นี้มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์