‘บิ๊กตู่’แจงตั้งสนง.น้ำแห่งชาติ หวังแก้ปัญหาแบบบูรณาการ-ยั่งยืน

เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 11 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า จากการที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ ทั้งปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยในหลายๆ พื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบ เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำนั้นจะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ ทำให้ที่ผ่านมาการดำเนินงานเกิดความล่าช้า ซ้ำซ้อน ไม่สามารถผลักดันการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาวขึ้น ผลการดำเนินการ ห้วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มความจุน้ำได้ร้อยละ 21 ของเป้าหมาย คิดเป็น 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากที่มีอยู่เดิม 12,000 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ ร้อยละ 18 ของเป้าหมาย คิดเป็น 2.4 ล้านไร่ จากเดิม 29 ล้านไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ จากการดำเนินการเพิ่มเติมนี้ราว 7.2 แสนครัวเรือน ทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง จะต้องพยายามกันต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน มีความสำคัญและต้องดำเนินการกันอย่างบูรณาการ จึงมีแนวทางที่จะตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะยุบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเท่าที่จำเป็นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานและงบประมาณ เป็นหนึ่งในงานปฏิรูปและบูรณาการการทำงานของส่วนราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายและให้แนวทางแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คิดถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยให้ตั้งเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการปัญหาน้ำทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1.น้ำอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 3.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งที่เพิ่มเติม แยกออกมาให้ความสำคัญ คือ 4.ปัญหาน้ำท่วม และ 5.ปัญหาน้ำแล้ง

“ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ผมได้ให้แนวคิดและมอบหมายหน่วยงานไปคิดแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ แก้ปัญหาประตูน้ำ ขุดลอกคลอง และการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่บุกรุก การปลูกป่าในพื้นที่เพื่อชะลอน้ำ ให้กักเก็บน้ำในพื้นที่ตอนเหนือไว้ เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ บ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม ให้หน่วยงานนำเสนอแผนมาว่างบประมาณปี 61 และปี 62 จะใช้ทำอะไรบ้าง อะไรที่ต้องทำเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน ต้องลดปัญหาให้ได้ อย่างน้อย 30-50% แผนอะไรที่ต้องทำเป็นระยะยาวให้เสนอมาเป็นแผนระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ถึง 2569 สำหรับการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปี 57-60 ระยะที่ 2 ปี 61-62 ระยะที่ 3 ปี 63-69 ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรทั้งระบบนี้ ได้เพิ่มเติม ค้นหาได้จากเว็บไซต์รัฐบาล www.thaigov.go.th” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์