“บิ๊กฉัตร” สั่งปรับแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่กลอง เพิ่มปริมาณระบายน้ำ 2 เขื่อนใหญ่รับฝนตกหนักเดือน ก.ย.

รองนายกฯลงพื้นที่ตรวจลุ่มน้ำแม่กลอง หลังเขื่อนวชิราลงกรณและศรีนครินทร์ปริมาณน้ำมากกว่า 90% ของความจุ เกินระดับเกณฑ์ควบคุม สั่งเพิ่มการระบายน้ำแต่ต้องไม่ล้นตลิ่งกระทบชาวบ้าน หวังให้มีพื้นที่เพียงพอรองรับฝนที่จะตกหนักอีกครั้งตั้งแต่ 15 ก.ย. เป็นต้นไป พร้อมให้เฝ้าระวัง 5 เขื่อนใหญ่ และจับตาสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายสำคัญๆ ย้ำต้องแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลทุกระยะ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเดินทางลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง และการระบายน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ ตลอดจนการเตรียมการช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดว่า ลุ่มน้ำแม่กลอง มีลำนำสาขาที่สำคัญคือ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ มีเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ เขื่อนวชิราลงกรณ กั้นแม่น้ำแควน้อยที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำ 8,401 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ94.82% ของปริมาณความจุ และเขื่อนศรีนครินทร์ กั้นแม่น้ำแควใหญ่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 16,195 ล้านลบ.ม. หรือ 91.27% ของปริมาณความจุ ทั้ง 2 เขื่อนขณะนี้ถือว่ามีระดับน้ำสูงกว่าระดับเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ในขณะที่การคาดการณ์และสถิติที่ผ่านมา พบว่า ช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีปริมาณนํ้าไหลเข้าเขื่อนมากที่สุด สอดคล้องกับร่องความกดอากาศตํ่ากําลังเลื่อนจากภาคเหนือลงมายังภาคกลางในห้วงเวลาดังกล่าว จะทําให้เกิดฝนตกหนักส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สส.นก.) ได้คาดการณ์ว่า ช่วงต้นเดือนกันยายน 2561 จะเกิดฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ภาคกลางและจะตกหนักอีกครั้งหลัง วันที่ 15 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ สทนช. บูรณาการทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ที่รับผิดชอบเขื่อนทั้ง 2 แห่ง กรมชลประทาน ที่รับผิดชอบเขื่อนทดน้ำแม่กลองที่อยู่ด้านล่าง และทางจังหวัดกาญจนบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดําเนินการเร่งระบายน้ำออกจาก เขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ในห้วงเวลาที่คาดว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงนั้น เพื่อให้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุม สามารถรองรับปริมาณนํ้าฝนที่คาดว่าจะตกหนักในเดือน ก.ย. – ต.ค. ได้ แต่ทั้งนี้การระบายของ ทั้ง 2 เขื่อน ต้องเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดร่วมกับการจัดจราจรทางนํ้า อีกทั้งเขื่อนแม่กลองที่อยู่ตอนล่างก็ต้องปรับการระบายให้สอดคล้องกับทั้ง 2 เขื่อนดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ ด้วยแล้ว

ADVERTISMENT

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนทั้ง 2 แห่งยังไม่ทำให้น้ำล้นตลิ่ง ซึ่งจากประชุมการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นว่า สามารถที่จะระบายน้ำเพิ่มขึ้นได้ในช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง โดยเขื่อนวชิราลงกรณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ปรับแผนการระบายน้ำจากเดิมวันละประมาณ 52 ล้าน ลบ.ม. เป็น 58 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้ (5 ก.ย.61) เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ระดับนํ้าในแม่น้ำแควน้อยสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 40 เซนติเมตร (ซม.) และจะควบคุมปริมาณนํ้า ที่ระบายนี้ไม่ให้เกินความจุของลําน้ำแควน้อย ส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์นั้น

กฟผ.จะปรับแผนเพิ่มการระบายนํ้าผ่านเขื่อนท่าทุ่งนา ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เดิมจากวันละประมาณ 20 ล้านลบ.ม. เพิ่มเป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 7- 13 ก.ย. 61 ด้วย ปริมาณนํ้าที่ระบายเพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแควใหญ่สูงขึ้นอีก 35 ซม. แต่จะไม่เกินความจุของลํานํ้าแควใหญ่เช่นเดียวกัน และจะได้มีการแจ้งเตือนให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลํานํ้าแควน้อยและลำน้ำแควใหญ่ให้ทราบถึงแผนการระบายนํ้าดังกล่าวด้วย

 

ADVERTISMENT