วงเสวนาชี้ “จับเข่าคุย-แชร์ความรู้” ทางออก “แผงลอย” ถกไกล อาชีพ-ลดเหลื่อมล้ำ

นักวิชาการ-กูรูผังเมือง แนะ “รัฐ-ผู้ค้าแผงลอย” หันหน้าเจรจา ดึง “นักวิชาการ” เสริมองค์ความรู้ ตอบโจทย์ปลายทาง “แผงลอยกับเมือง : การจัดการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กู้วิกฤตเฉพาะหน้า-ลดเหลื่อมล้ำระยะยาว ยกสิงคโปร์-อารีย์โมเดลตัวอย่าง

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุม จุมภฏ พันทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ จัดเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “แผงลอยกับเมือง : การจัดการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผังเมือง ดำเนินเสวนาโดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

แนะ รัฐ-ผู้ค้าแผงลอย จับเข่าคุยคือทางออก ดึงนักวิชาการเติมความรู้

รศ.ดร.นฤมล กล่าวถึงแสงสุดท้ายที่ปลายทางออกของปัญหาไล่รื้อจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยว่า ต้องมีการเจรจาอย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของภาครัฐ กับกลุ่มผู้ค้าแผงลอยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลัก

“รัฐกับท้องถิ่นคิดต่างกัน แต่เมื่อผนวกเข้าหากัน การยอมรับเข้าใจเรื่องกำลังแรงงาน เรื่องสังคมผู้สูงอายุที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ จะทำให้เกิดจุดที่มานั่งคุยเกี่ยวกับแผนในอนาคต ตลอดจนเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบที่สอดแทรกอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทั้งนี้สนับสนุนผู้ค้าให้รวมกลุ่มกัน ซึ่งหวังว่าจะมีความสมานฉันท์และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมีการมองแบบวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ให้มีการปรับตัวมากกว่ามาทางออกแบบไล่รื้อ”

เช่นเดียวกับ ดร.สมชัย, ผศ.ดร.อภิวัฒน์ และผศ.ดร. นิรมล ที่เห็นว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือการขาดการพูดคุยถึงปัญหาและทางออกของแผงลอยกับเมืองระหว่างภาครัฐกับประชาชน รวมทั้งการขาดองค์ความรู้การบริหารจัดการเมืองของภาครัฐ จึงมีความจำเป็นที่ควรดึงนักวิชาการให้เข้าไปมีส่วนร่วมด้านองค์ความรู้เพื่อหาคำตอบตรงกลางให้เหมาะสมกับทุกฝ่าย กระทั่งเมื่อมีทางออกที่แน่ชัด นักวิชาการจึงหมดหน้าที่ ปล่อยให้กลุ่มผู้ค้ารวมตัวและดำเนินการด้วยลำแข้งตนเองอย่างเข้มแข็งต่อไป

“เครือข่ายต้องรวมกันชัดเจนและมีการควบคุมสอดส่องกันเอง ไม่ต้องให้ถึงมือเทศบาล ที่สำคัญจำเป็นต้องนั่งคุยกัน และเรามองทางออกแบบวินวินทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งตัวนักวิชาการเองก็ต้องเป็นกลาง” ดร.สมชัย กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.อภิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า นอกจากการพูดคุยแล้ว จะต้องวางแผน คิดต่อ และแปลงโจทย์ให้เกิดเป็นรูปธรรม บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและเป็นสินค้าสาธารณะให้แก่คนหลายกลุ่มให้ได้ “เมืองคือที่ที่คนแปลกหน้ามาอยู่ด้วยกัน คนที่เดินทางเท้าต่างก็ไม่รู้จักกัน แต่คนเดินเท้าอย่างไรก็คือชุมชน หากเรามองสังคมแบบชุมชน”

ถกรอบด้าน สิทธิทางเท้า-อาชีพ-ความมั่นคงอาหาร-ความปลอดภัย-ความเหลื่อมล้ำ

รศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า การมองปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอยนี้ จำเป็นต้องมองอย่างรอบด้าน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ตัวหลักอย่างผู้ค้า เทศกิจ และกทม.ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากความเป็นจริงแล้วมีผู้ได้รับผลกระทบมาก และต่างก็มีความเชื่อมโยงกันในสังคมในหลายแง่ เช่น การประกอบอาชีพ ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“เราไม่พูดเฉพาะผู้ค้าแผงลอย แต่ต้องมองถึงคนตั้งของ คนขับรถตุ๊กๆ คนซื้อของมาขาย คนซื้อวัตถุดิบ เหล่านี้ต่างเป็นความเชื่อมโยงทั้งหมด แผงลอยเป็นเรื่องใหญ่กว่าแค่สิทธิทางเท้า แต่เกี่ยวโยงถึงเรื่องอาชีพ การทำงาน การทำมาหากิน การสร้างเนื้อสร้างตัว การประกอบอาชีพอิสระ หากมองเช่นนี้ก็จะเห็นว่าเป็นการช่วยลดภาระของรัฐ ลดปัญหาสังคมด้วย เราอยากได้เมืองที่มีทางเลือกสินค้า เราไม่ได้อยากเข้าร้านสะดวกซื้อทุกวัน เราต้องการวัตถุดิบที่สะอาด มีความมั่นคงของอาหาร” อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์กล่าวและถามว่า “เราจะทำอย่างไรให้คนรายได้น้อยเข้าถึงอาหารคุณภาพ จะทำอย่างไรให้คนอายุมากมีอาชีพ”

ด้าน ดร.สมชัย มองว่า แผงลอยคืออาชีพทางเลือกที่สุจริตของผู้ที่มีการศึกษาไม่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอายุ 40-50 ปี เนื่องจากสังคมเปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ผู้ที่ปรับตัวไม่ทันจะยิ่งถูกบีบด้านอาชีพ ดังนั้น การผ่อนปรนเรื่องหาบเร่แผงลอยในอนาคตจึงมีความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้

“ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้เป็นแบบเศรษฐกิจหัวโต คนกลุ่มร่ำรวยสุดได้รับประโยชน์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่คนระดับล่างขยายตัวช้า การจัดระเบียบในสมัย คสช. ค่อนข้างแรง จะพบกันครึ่งทางได้หรือไม่ จะมองแต่ความปลอดภัย ความสะอาดอย่างเดียวหรือ อาจไม่กวาดล้างผู้ค้าทั้งหมด แต่สังคมต้องแน่ใจว่า คนต้องไม่ถูกบังคับให้เดินบนถนน” ดร.สมชัย กล่าว

ชูโมเดล สิงคโปร์-อารีย์ ต้นแบบจัดการยั่งยืน

ผศ.ดร. นิรมล ยกตัวอย่างการบริหารจัดการผู้ค้าแผงลอยในประเทศสิงคโปร์จากอดีตที่ตั้งบริเวณท่าเรือ ยกระดับมาสู่ฮอร์กเกอร์ เซ็นเตอร์ (Hawker Centre) ภายในระยะเวลาประมาณ 40 ปี ว่า “สิงคโปร์ก็มีแผงลอยเหมือนไทย จนกระทั่งถึงวันประกาศอิสรภาพ ลีกวนยูทำการไล่จับแต่กลับไม่ได้ผล เพราะยังคงมีดีมานด์อยู่ จึงเปลี่ยนวิธีให้มาเป็นศูนย์รวมสตรีทฟู้ดแทน ทั้งยังมีการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับผู้ค้า รัฐสามารถดึงให้คนเหล่านี้มาอยู่ในเศรษฐกิจหลัก และสามารถเก็บรายได้ วิน-วิน”

ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผังเมือง ระบุว่า เมื่อหันกลับมามองวิธีจัดการของ กทม. แล้ว มีสามทางออก ได้แก่ หนึ่ง ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น สอง ไล่รื้อออก และสาม พยายามสร้างการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้งยกตัวอย่างย่านอารีย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งตัวอย่างการจัดการเรื่องแผงลอยในกรุงเทพที่มีปัจจัยสำคัญมาจากการพูดคุยเพื่อร่วมหาทางออกระหว่างภาคส่วนต่างๆ


“ย่านอารีย์มีกติกาชัดเจน มีความเหนียวแน่น ทั้งเขต ผู้ค้า ผู้อาศัย ภาคประชาสังคม เหล่านี้ร่วมงานกันมานานและพยามออกแบบ เช่น ปากซอยพหลโยธิน ซอย7 มีแผงลอยประมาณ 27 แผง แต่เมื่อเราไปสำรวจจริง บริเวณนั้นไม่สมควรมีอะไรมาขวางทางเท้าเพราะมีคนเดินเยอะ ทั้งยังควรมีโครงสร้างกันแดดฝนไหม ลองออกแบบสถานที่ขายใหม่ที่ไม่ไกลจากผู้คนเดินเท้าไปมามาก” ผศ.ดร. นิรมล กล่าวและแนะว่า แต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่าง ทางออกจึงไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี ในยุคดิจิทัลนี้สามารถใช้ประโยชน์จากการทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม สร้างกลไกควบคุมระดับย่านการค้า ซึ่งการที่หลายๆ ย่านจะพร้อมอย่างอารีย์ได้นั้น ต้องอาศัย การพูดคุยและความร่วมมือซึ่งกันและกัน”