ผลวิจัยชี้ ‘ตัวเงินตัวทอง’ สวนลุมฯ เพิ่มเพราะคนให้อาหาร กทม.เร่งติดป้ายประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 6 กันยายน นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกรณีสื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแนวคิดให้ กทม.จัดกิจกรรมนับประชากรตัวเงินตัวทอง (ตัวเหี้ย) ภายในสวนลุมพินี ทั้งๆ ที่ควรพิจารณาหาแนวทางควบคุม หรือจัดพื้นที่อยู่อาศัยให้เป็นสัดส่วน ว่า กทม.ได้หารือร่วมกับสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งได้นำเสนอวิธีการสำรวจเพื่อประเมินจำนวนประชากรตัวเหี้ยให้ได้จำนวนที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ได้สำรวจประชากรตัวเหี้ยในสวนลุมพินี คาดว่ามีอย่างน้อย 160 ตัว รวมทั้งได้สอบถามความคิดเห็นของผู้ใช้บริการที่สวนลุมพินี พบว่าร้อยละ 97.3 ไม่กลัวและไม่เคยได้รับความเดือดร้อนจากตัวเหี้ย

นางวัลยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้เชิญนายยุติธรรม มีกลิ่น นิสิตสาขาการจัดการสัตว์ป่าและทุ่งหญ้า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง “Ecology & Population assessment of water monitor in Lumphini park area” มาให้ข้อมูล โดยระบุสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเหี้ยภายในสวนลุมพินีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผู้ให้อาหาร จึงขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ส่วนปริมาณความหนาแน่นยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเสนอให้ กทม.สำรวจประชากรตัวเหี้ยเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเชิงสถิติเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจ

“เบื้องต้นได้จัดทำป้ายเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเหี้ยแก่ผู้ใช้บริการสวนลุมพินี พร้อมสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการในพื้นที่สวนลุมพินี และสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการประชุมร่วมกันครั้งต่อไป” นางวัลยา กล่าว

 


ที่มา  มติชนออนไลน์