‘กรณ์’เผยคุยปตท.ไม่เคลียร์ปมซื้อหุ้นGLOW-ขยายอเมซอน ยื่นร้อง’บิ๊กตู่-ผู้ตรวจฯ’ 10 ก.ย.

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงผลการหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย กรณีบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) มีแผนการเข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) และขยายธุรกิจค้ากาแฟอเมซอน เมื่อวันที่ 5 กันยายนว่า ขอไม่เปิดเผยว่าได้หารือกับผู้บริหารระดับใดของปตท. สำหรับรายละเอียดการหารือนั้น ต่างฝ่ายต่างมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งปตท.มองในเชิงธุรกิจ และชี้แจงว่า ปตท.มีหน้าที่กำกับราคาน้ำมันไม่ให้ขึ้น-ลงหวือหวาเกินไป จะทำหน้าที่นั้นได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณลูกค้าที่เพียงพอ กล่าวคือ มีอำนาจทางการตลาดและการค้าน้ำมันที่ใหญ่เพียงพอจะกำหนดทิศทางราคาน้ำมันได้ นี่คือสาเหตุของการเปิดร้านกาแฟ เพื่อให้มีลูกค้าเข้ามาในปั๊มน้ำมันมากขึ้น ตนไม่ได้ขัดข้องหากร้านกาแฟอยู่ในปั๊มน้ำมัน แต่ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อร้านกาแฟขยายออกมาอยู่นอกปั๊มน้ำมัน เพราะเท่ากับกำลังแข่งขันกับเอกชนรายอื่นและเบียดพื้นที่ของชาวบ้าน ในประเด็นนี้ ปตท.ไม่สามารถชี้แจงต่อได้

“ถ้าคำอธิบาย คือ มีร้านกาแฟเพื่อจะดึงลูกค้าเข้ามาซื้อน้ำมัน การเปิดร้านกาแฟนอกปั๊ม เขา(ปตท.)ก็แค่ชี้แจงว่าเมื่อแบรนด์เริ่มติดตลาด ทำให้มีคนมาขอชวนให้เขาไปเปิดตามที่ต่างๆ ผมจึงมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ผมไม่ได้ต้องการให้ ปตท.เลิกกิจการอเมซอน เพราะเป็นแบรนด์ที่ดีและเขาอุตส่าห์สร้างมา แต่ยุทธศาสตร์ปัจจุบันของปตท.ที่จะขยายมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเบียดพื้นที่ของชาวบ้าน ดังนั้น ถ้าอยากให้ปตท.ขยายไปทั่วจริงๆ ผมจึงแนะนำว่า ปตท.ควรขายให้เจ้าของเฟรนไชส์หรือประชาชน และให้มีการบริหารเสมือนเป็นบริษัทเอกชน เช่นเดียวกับ วาวี(Wawee Coffee) ดิโอโร่ (D’oro Coffee) ซึ่งด้วยจำนวนสาขาและที่ตั้งของปตท.ทั่วประเทศ ก็สร้างความได้เปรียบมหาศาลแล้ว แต่ปตท.ยังมีความรู้สึกว่ารักลูกคนนี้มาก ผมเชื่อว่าเขาคงไม่ยอมขาย ทั้งที่มันมีความสมเหตุสมผลในการพิจารณา และเชื่อว่าถ้าเขาขายก็จะได้ราคาดี”นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีบางฝ่ายโต้แย้งว่า หากปตท.ในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เลือกดำเนินการตามที่ตนแนะนำ จะสร้างความเสียเปรียบแก่องค์กร ต้องบอกว่าจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะ ปตท.ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ นอกจากนี้การที่ปตท.จะทำธุรกิจไฟฟ้า ทั้งที่บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าเป็นลูกค้าของปตท. อีกทั้งมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาหลาย 10 ปี กฟผ. มียุทธศาสตร์ลดบทบาทของรัฐเพื่อลดภาระประชาชนที่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเอง โดยการให้เอกชนมาลงทุนและให้การไฟฟ้าฯมารับซื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่วันดีคืนดีกลับมีอีกรัฐวิสาหกิจมาซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนกลับคืนมาเป็นของรัฐหรือเป็นกึ่งรัฐ จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก และประเด็นที่น่าคิดอีกอย่างคือ ปตท.ให้ทุนมหาศาลในการซื้อหุ้นบริษัทโกลว์ ทุนนั้นกึ่งหนึ่งเป็นของประชาชน ทั้งที่ปตท. ควรใช้เงินเพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ในกรณีนี้ปตท.ไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว จึงไม่มีผลบวกต่อเศรษฐกิจเลย ในทางกลับกัน ถ้าประเทศไทยขาดโรงไฟฟ้าแล้วปตท.ใช้เงินทุนส่วนนี้ไปสร้างโรงไฟฟ้า ยังพอเป็นเรื่องที่อธิบายได้ นอกจากนั้น ปตท. ยังซื้อหุ้นจากบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ นั่นหมายความว่า เงินของประชาชนส่วนนี้จะไปอยู่ในกระเป๋าของนักลงทุนต่างชาติ คนไทยไม่ได้ประโยชน์เลย

เมื่อถามว่ามีผู้ตั้งคำถามว่าเหตุใดต้องคัดค้านเรื่องนี้ ทั้งที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้เปิดเสรีการนำเข้าก๊าซ LNG ตั้งแต่ปี 2560 นายกรณ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเปิดเสรีในทางกฎหมาย แต่ในเชิงพฤตินัย ยังเป็นปตท.เพียงผู้เดียว เพราะคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติมอบให้ กฟผ.สามารถนำเข้าก๊าซ LNG ได้ แต่จนถึงทุกวันนี้ กฟผ.ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะด้วยโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบท่อที่ ปตท. คุมอยู่ ทำให้คนอื่นแข่งขันกับปตท.ยาก
“ทราบมาว่ามีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งต้องการนำเข้าก๊าซ LNG แต่ถูกปฏิเสธโดยกพช. ดังนั้น จึงไม่ใช่การเปิดเสรีจริง และวันนี้ยังเป็น ปตท. แต่เพียงผู้เดียว กฎหมายที่ออกมาจึงเป็นการแก้เก้อ”นายกรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่ามีความคาดหวังจากการร้องเรียนเรื่องนี้อย่างไร รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวว่า คาดหวัง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยผู้ที่จะยื่นเรื่องในวันที่ 10 กันยายน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะฝ่ายที่ดูแลนโยบาย หากยังปล่อยให้มีการเบียดพื้นที่และลดการแข่งขัน จะหวังอะไรกับนโยบายว่ารัฐจะส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม 3.ยื่นต่อกพช. มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลและพิจารณาว่าดีลดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างไรต่ออุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และ 4.ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในประเด็นทางกฎหมาย 2 เรื่อง คือ รัฐธรรมนูญที่ระบุชัดเจนว่ารัฐห้ามแข่งขันกับเอกชน นอกจากในกรณีที่จำเป็น เช่น บางรัฐวิสาหกิจที่มีมาก่อนและเปิดพื้นที่ให้เอกชนมาทำด้วยในภายหลัง อาทิ การบินไทย หรือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ที่ปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านแข่งกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ แต่ภารกิจของ ธอส.คือการปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่ปกติธนาคารพาณิชย์ไม่รับเป็นลูกค้าอยู่แล้ว เงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้กับกับการที่ ปตท.ไปซื้อโรงผลิตไฟฟ้า ส่วนกฎหมายอีกฉบับคือ พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ระบุพันธกิจของ ปตท. ตั้งแต่การก่อตั้งคือเรื่องการปิโตรเลียม และเจาะจงแยกแยะด้วยว่าไม่ใช่เรื่องไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นเรื่องของ กฟผ.

“ต้องระมัดระวัง เพราะภาครัฐค่อยๆคืบในแง่สัดส่วนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐใหญ่ขึ้น พื้นที่เอกชนเหลือน้อยลง จนคนไม่สังเกตและมองเป็นเรื่องปกติ จึงเป็นประเด็นทางนโยบายที่ทำให้ต้องตัดสินใจยื่นเรื่อง เพื่อให้รัฐมีความชัดเจนว่า รัฐมีหน้าที่เปิดพื้นที่ให้เอกชนหรือพร้อมที่จะใช้องค์กรของรัฐไปเบียดพื้นที่ของเอกชน และหากอนุมัติให้ปตท.ซื้อหุ้นบริษัทผลิตไฟฟ้าได้ ก็ต้องเตรียมคำตอบให้การท่าอากาศยานด้วย หากวันหนึ่งเขาต้องการทำสายการบิน ผมจึงหวังผลจากการยื่นหนังสือแน่นอน แต่ในยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าผู้มีอำนาจมักเข้าข้างระบบราชการและทุนใหญ่ ฉะนั้น ผมเชื่อว่าถ้าเราพิจารณาด้วยความเป็นธรรม จะเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจและประเทศชาติอย่างมากในระยะยาว แต่ขณะเดียวกัน ผมอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เข้าใจว่าสังคมไทยตอนนี้ สภาพความได้เปรียบอยู่ในมือคนกลุ่มใด มันไม่ใช่ประชาชน”นายกรณ์ กล่าว

 

ที่มา  มติชนออนไลน์