กรมสุขภาพจิตส่งสัญญาณ “ผู้สูงอายุอยู่โดดเดี่ยว” อันตรายกว่าที่คิด!

ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ของโรคพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยสำรวจใบมรณบัตรพบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อประชากรแสนคน โดยปี 2560 พบข้อมูลถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 มีอัตราฆ่าตัวตาย 6.03 คนต่อประชากรแสนคน โดยผู้สูงอายุระหว่าง 60-64 ปีมีอัตราฆ่าตัวตายมากถึง 9-10 คนต่อประชากรแสนคน ขณะที่เด็กและวัยรุ่นพบการฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 140-160 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเฉลี่ยจากคนไทยที่ฆ่าตัวตายทั้งหมดราว 4,000 คนต่อปีนั้น

เมื่อวันที่ 8 กันยายน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เดิมทีอัตราการฆ่าตัวตายพบมากในกลุ่มวัยทำงานสูงสุด รองลงมาคือผู้สูงอายุ และกลุ่มเด็กและวัยรุ่น แต่ปัจจุบันปัญหาอย่างที่มีการเผยแพร่ตัวเลขจะพบว่าผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายาสูง โดยเฉพาะในกลุ่มติดบ้าน หรือกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง ลูกหลานต่างไปทำงาน ไม่มีเวลาอยู่บ้าน ขณะที่ผู้สูงอายุอยากพูดคุย อยากสื่อสารก็ขาดคนฟัง ทำให้เกิดความน้อยใจ เกิดการแปลกแยก และสะสมกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ และเสี่ยงฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายอย่างฉับพลัน เนื่องจากความเครียด ปัญหาความรัก อารมณ์ชั่ววูบก็จะฆ่าตัวตายโดยไม่ทันคิด ส่วนวัยทำงานก็จะมาจากความเครียด การสะสมเรื่อยๆ และคิดมาก่อนว่าจะฆ่าตัวตาย

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ โดย 1. เข้าไปในชุมชนจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น ให้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน  ชูสุข 5 มิติ คือ 1. สุขสนุก เป็นความสุขที่เกิดจากความสนุกสนาน เช่น การเล่นต่างๆ เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง 2. สุขสบาย เป็นความสุขที่เกิดจากความสะดวก สบาย ผ่อนคลาย 3. สุขสง่า เป็นความสุขที่เกิดจากความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ การเป็นแบบอย่างที่ดี 4. สุขสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบไม่แก่งแย่ง ช่วงชิง พอเพียง และ5. สุขสว่าง เป็นความสุขที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ หรือความสำเร็จให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือสังคมในวงกว้าง ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน  โดยให้เป็นเครื่องมือในการสร้างสุขในกลุ่มผู้สูงวัย เสริมสร้างความภูมิใจให้ตนเอง

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า 2.ดึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) มาฝึกอบรมเป็น อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชน ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาฝึกอบรมไปแล้ว 84,000 คน โดยอสม. 1 คน จะดูแล 10 หลังคาเรือน ซึ่งจะอบรมให้อสม.เข้าไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ แนะวิธีเสริมสร้างพลังใจ เป็นต้น

และ3.ปัจจุบันมีคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่รู้จักกัน คือ คลินิกเบาหวาน ความดัน ซึ่งอยู่โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) เดิมคลินิกแห่งนี้จะเน้นดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ แต่ปัจจุบันจะให้ความรู้ในเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจด้วย เพราะการป่วยโรคเรื้อรัง พบว่าเป็นส่วนหนึ่งในการบั่นทอนกำลังใจของผู้สูงอายุให้รู้สึกเบื่อหน่าย เป็นทุกข์ ไม่อยากอยู่ต่อไปได้  อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ คนรอบข้างผู้สูงอายุต้องสังเกต ใส่ใจ อย่าทอดทิ้ง

 

ที่มา  มติชนออนไลน์