ผู้พิพากษาศาลฎีกาแนะเเก้ปัญหาจราจร ยกโมเดลต่างประเทศกำหนดจุดรับส่งรถนักเรียน

ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เสนอเเนวทางรัฐเเก้ปัญหาจราจร ชี้หัวใจอยู่ที่บังคับใช้กฎหมาย ยกโมเดลต่างประเทศกำหนด ”บัสสคูล” จุดรับส่ง ลดปริมาณรถนักเรียนเข้าสู่ตัวเมืองชั้นใน เลิกค่านิยมซื้อรถเป็นรางวัลให้ลูกเอ็นท์ติด แนะย้ายศูนย์ราชการออกนอกเมือง

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าวว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นผู้ใช้รถใช้ถนนอยากจะให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำนโยบายการจราจรให้ผู้เกี่ยวข้องไปปฎิบัติว่าปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าถนนในกรุงเทพมหานครมีการก่อสร้างขึ้นไม่มากถ้าเทียบกับปริมาณรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมหาศาลจนเกินความจุของถนน ซึ่งการแก้ไขได้จะต้องลดปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนน ตรงนี้เราจะเห็นชัดเจนว่าในช่วงที่มีการเปิดเทอมการจราจรจะติดขัด แต่หากมีการปิดเทอมท้องถนนจะโล่งมากขึ้น ทำให้เราสามารถอนุมานได้จากสถิติต่างๆ ว่า รถของผู้ปกครองเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย จะออกมาวิ่งในท้องถนนมากขึ้นเป็นจำนวน 30% ของจำนวนรถทั้งหมดในรถ 100 คัน จะมีรถวิ่งรับส่งนักเรียน 30 คัน

ปัญหาตรงนี้จึงเป็นเรื่องของค่านิยมสำหรับผู้ปกครองที่มีฐานะก็จะขับรถไปรับไปส่งนักเรียน ทำให้รถที่อยู่บนท้องถนนในเขต กทม.จะมีปริมาณที่สูงมาก ฉนั้นถ้าเราไม่สามารถที่จะลดปริมาณรถรับส่งนักเรียนเหล่านี้ได้ ปัญหาจราจรก็จะแก้ยากที่สุด และถ้าปล่อยไว้ปัญหาจะทับถมและแก้ยากมากขึ้นอีก เนื่องจากประชากรมีการหมุนเวียนเด็กที่โตขึ้นก็จะเข้าเรียนหนังสือ ตรงนี้จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะว่าเขามีระบบรถรับส่งนักเรียนที่ดี แตกต่างจากของเราที่ไม่ได้มีการวางแผนให้มีรถรับส่งนักเรียน เนื่องจากเราไม่สามารถบังคับได้ เเต่ถ้าเราจะดำเนินการ เราจะต้องออกข้อห้ามไม่ให้ผู้ปกครองนำรถเข้ามารับส่งนักเรียนบริเวณโรงเรียน

“เราจะเห็นได้ว่าถนนสาทร ถนนราชดำเนิน หรือตามโรงเรียนใหญ่ๆ อย่างโรงเรียนสาธิต เตรียมอุดมศึกษา หรือโรงเรียนฝรั่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงิน และจะต้องมารับส่งบุตรหลาน ตั้งแต่อนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องมีการรับส่งกันอยู่ เราไม่ยอมเสียสละกันว่าจะต้องใช้รถรับส่งนักเรียน แต่หากผู้ปกครองยังต้องการที่จะยังรับส่งอยู่รัฐก็จะต้องกำหนดจุดรับ-ส่ง โดยกำหนดให้มีจุดจอดรถ (Hub) เพื่อรับส่งนักเรียน ที่ห่างจากการจราจรชั้นใน อย่างในประเทศสิงคโปร์ก็ยังสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องจุดรับส่งกลับไม่มีใครคิดที่จะแก้ไข จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ตำรวจจราจรเองก็ลำบากใจ เพราะหากไปจับหรือไปไล่รถที่มาจอดรับ-ส่งนักเรียน ก็ถูกผู้มีอำนาจมาตำหนิตำรวจชั้นผู้น้อย ทำให้ปัญหานี้แก้ไขได้ยาก จีงมีคำกล่าวกันว่าเมืองไทย มีการใช้ทรัพยากรไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากผู้มีฐานะดีจะซื้อรถไปรับส่งนักเรียนคนละคัน ซึ่งเราควรจะต้องดูว่าประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวมอันไหนสำคัญกว่ากัน ถ้าเรายังให้ผู้ปกครองนักเรียนที่มีฐานะไม่ขับรถมาส่งได้ ก็จะแก้ปัญหาได้รถรับจ้างก็เช่นกัน เช่น รถแท็กซี่ มาจอดริมทางเพื่อหาลูกค้าทำให้เสียช่องทางเดิน และอีกอย่างหนึ่งก็คือการจอดรถและขับรถล้ำเส้นทางอันนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของรถติด หรืออย่างการที่ล่าสุดมีรถวิ่งบนไหล่ทางเเล้วไปชนรถที่จอดเสียอยู่ทำให้เกิดมีอุบัติเหตุมีคนเสียชีวิตก็อยู่ที่ว่าการบังคับใช้กฎหมายมีการจับจริง ๆหรือไม่ ไม่ใช่พอเกิดเหตุมีนโยบายจากผู้ใหญ่ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาในช่วงนั้นก็ทำเฉพาะชั่วคราวรณรงค์ ที 7-10 วัน ก็ทำให้คนไทยเราคิดว่าไม่มีการจับกุมก็ฝ่าฝืนกันต่อ ทำให้การกวดขันวินัยจราจรหย่อนยาน คนจะเคยชินกับการทำผิดกฎหมาย ตรงนี้สำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาจราจรเเละอุบัติเหตุ ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายก็จะช่วยได้มาก”

นายศรีอัมพร ยังกล่าวอีกว่า ในโรงเรียนที่คนนิยมเข้าเรียนจะมีที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองชั้นใน นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีการขยับโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากไปอยู่ชานเมืองโดยกำหนดให้มีระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่ดี ตรงนี้ก็ทำได้ ในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยก็จะต้องออกกติกาว่านักศึกษามหาวิทยาลัยจะต้องไม่ใช้รถซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกับโรงเรียนนายร้อย ที่จะมีการระบุกฎเกณฑ์ออกมาว่าห้ามผู้ปกครองนำรถมาส่งที่โรงเรียน ไม่ใช่ว่าพอลูกสอบติดก็จะต้องซื้อรถให้ ตรงนี้นอกจากจะก่อปัญหารถติดแล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซ้ำกลับเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจ เพราะรถติดก่อให้เกิดความเสียหายหลายแสนล้านต่อปี อีกสาเหตุหนึ่งที่รถติดรถรับจ้าง เช่น รถแท็กซี่ มาจอดริมทางเพื่อหาลูกค้าทำให้เสียช่องทางเดิน และอีกอย่างหนึ่งก็คือการจอดรถและขับรถล้ำเส้นทางอันนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของรถติด

นายศรีอัมพร ยังได้ระบุวิธีการแก้ไขปัญหาว่า เราควรจะต้องกำหนดให้วันเสาร์อาทิตย์ในโรงเรียนมีการเรียนการสอนขึ้นและให้สลับวันหยุดไปเป็นวันธรรมดาสลับกันไป เพื่อบรรเทาการจราจรลง รัฐต้องใช้เทคนิคหลายอย่าง หน่วยราชการก็เป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้ศูนย์ราชการที่เเจ้งวัฒนะก็จะเห็นว่ามีปริมาณรถหนาเเน่นมาก ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียหน่วยราชการจะไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง มาเลเซียและพม่าก็มีเมืองราชการ หลายประเทศมีการขยับศูนย์ราชการไปอยู่ต่างจังหวัดไม่อยู่ให้อยู่ในตัวเมืองชั้นใน ตรงนี้ก็สามารถทำได้

เมื่อถามถึงเรื่องความปลอดภัยของรถนักเรียน นายศรอัมพรกล่าวว่า ในต่างประเทศมีรถนักเรียนโดยเฉพาะไม่ใช่เป็นรถตู้แต่จะหน้าตาคล้ายรถเมล์บ้านเรามีสีเหลืองเขียนว่ารถนักเรียน ซึ่งจะมีเอกสิทธิ์ที่ห้ามไม่ให้มีการใช้ความประมาทอย่างเช่นใครขับชนรถนักเรียนจะมีโทษสูง โดยมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ค่านิยมของเรามีการทะนุถนอมลูกหลานมากกว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ซึ่งตนเข้าใจความรู้สึกของผู้ปกครอง แต่การที่เราประคบประหงมบุตรหลานโดยไม่ให้เขาออกไปต่อสู้ ผจญภัยกับโลกภายนอก กลับทำให้เขาอ่อนแอ ทำให้ความเข้มแข็งของทรัพยากรมนุษย์ตกต่ำลงมาก ประเทศไทยถ้าดูสถิติความสามารถในการแข่งขัน อันเกิดจากทรัพยากรมนุษย์มันต่ำกว่าประเทศเพื่อนเยอะ เพื่อนบ้านเราเขาปากกัดตีนถีบ ส่งเสริมให้ลูกหลานมีความเข้มแข็ง อย่างในยุโรปหรืออเมริกา เขาไม่มีค่านิยมในการซื้อรถให้ลูกเพื่อให้ขับไปเรียน เขาสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง แต่ของเราป้อนลูกขณะที่ว่าลูกทำงานก็ยังป้อนอยู่ เข้ามหาลัยยังขับรถไปส่งอยู่ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเรามันตกลง ความสามารถทางการค้าของเราสู้ประเทศอื่นไม่ได้ เพระาว่าค่านิยมของเราปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กไม่ให้ไปกระทบกระเทือน ความเข้มแข็งก็น้อยลงถ้าเราไม่ปลูกจิตสำนึก ในประเทศสเเกนดินิเวีย สิงคโปร์ มีระบบรถรับส่งนักเรียนที่เข้มงวดมาก รถนักเรียนจะมีไฟติดรอบคัน รถนักเรียนดังกล่าวจะสามารถเข้าไปในถนนที่เขาห้ามเข้าในเวลาเร่งด่วน เเละรถที่เข้ามาในเขตเมืองชั้นในจะต้องเสียเงินเข้ามา ผมไม่เห็นว่าจะมีใครเอารถส่วนตัวไปรับส่งนักเรียน มีเเต่รถนักเรียนที่มาตรงเวลา เเละเป็นกิจการของเทศบาล หรือการปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องทำให้ประชาชนในเขตเขามีความสุข ขณะที่ของเราไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก เรามัวไปอำนวยความสะดวกให้เเก่ชนชั้นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ

เมื่อถามถึงการอ้างหลักสิทธิเสรีภาพในการขับรถไปส่งบุตรหลาน นายศรีอัมพร กล่าวว่า ยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหลักสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่รัฐธรรมนูญก็มีหลักอีกอย่าง อย่างในเรื่องกฎหมายมหาชน ที่ระบุว่าประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักอันไหนมีความสำคัญกว่ากัน ซึ่งในหลักกฎหมายมหาชนนี้ เขาถือว่าประโยชน์ส่วนรวมมันมีความสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัว

“จริงอยู่ท่านมีฐานะและสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจดี ท่านสามารถซื้อรถยนต์กี่คันก็ได้อันนั้นถูก แต่การที่ท่านมาใช้รถใช้ถนนกับคนที่ยากจน ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบนั่งรถประจำทาง ท่านไม่เห็นใจเขาหรือ ตรงนี้รัฐต้องมีนโยบายที่จะอุ้มชูผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของผู้ที่จะเลือกตั้งเข้าสู่รัฐบาล ซึ่งถ้านักการเมืองยังมัวห่วงคะแนนเสียงกลัวถูกตำหนิจากผู้ที่ใช้รถ การแก้ไขปัญหาก็จะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้ามีความกล้าหาญ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราต้องถือว่ามีประโยชน์สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัว ถ้าอย่างนี้ผมเชื่อว่าประชนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย ซึ่งประชาชนที่จะมีเสียงในสังคมออกมาตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่มีฐานะดี “ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกากล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์