กรมสุขภาพจิตเผยคนไทยคิดสั้น ชม.ละ 6 คน ชี้วิถี “ควิก-ควิก” กระตุ้นขาดการยั้งคิด

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์

เมื่อวันที่ 9 กันยายน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World suicide prevention day) ปีนี้สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ร่วมมือกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (Working Together to Prevent Suicide) เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ ทั่วโลกมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 800,000 คน เฉลี่ย 1 คน ในทุก 40 วินาที ซึ่งมากกว่าตายจากสงครามและถูกฆ่าตายรวมกัน เกือบร้อยละ 80 อยู่ในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง องค์การอนามัยโลกจึงตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ทีมวิชาการได้ประมาณการว่า แต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน กระจายอยู่ทุกชุมชน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน ในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ประเทศต้องสูญเสียเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท ข่าวการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในจิตใจแต่ละคน โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด ต้นเหตุที่มักพบได้บ่อยที่สุดมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงมาจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก

“สภาพวิถีชีวิตของคนไทยขณะนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งจะเริ่มคุ้นเคยกับการดำรงชีวิตแบบเร่งด่วน เร่งรีบ หรือที่เรียกว่า ควิก-ควิก (Quick-Quick) ความเคยชินอาจจะมีผลทำให้มีรูปแบบความคิดแบบเร่งรีบอย่างไม่รู้ตัวตามไปด้วย มักจะบอกว่าไม่มีเวลา ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากไตร่ตรอง ไม่มีทางเลือกแล้ว เมื่อเผชิญกับแรงกดดันความเครียดต่างๆ ผู้ที่มีความคิดแบบนี้ อาจลงมือแก้ปัญหาแบบมุทะลุ หุนหันพลันแล่น มีโอกาสผิดพลาดได้สูง เพราะขาดการไตร่ตรอง ขาดความยั้งคิด” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าปัญหาการฆ่าตัวตายจะเริ่มมาจากปัจเจกบุคคลและมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนก็ตาม แต่ก็ไม่ยากเกินแก้ โดยสังคมทุกภาคส่วนทั้งภาคสาธารณสุขและภาคประชาชนต้องร่วมมือป้องกันแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งหลักฐานทางวิชาการทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยขอให้ร่วมมือกันอัดฉีดวัคซีน 3 ส. ป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย เริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นพลังสำคัญและอยู่ใกล้ปัญหาที่สุด ส.ที่ 1. คือ การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) ไม่ห่างเหินและใกล้ชิดจนเกินไป ให้คนในครอบครัวเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน ส.ที่ 2 ได้แก่ การสื่อสารที่ดีต่อกัน (Communication) โดยบอกความรู้สึกตัวเองอย่างจริงจัง มีภาษาท่าทางที่เป็นมิตรต่อกัน เช่น สบตา ยิ้ม โอบกอด และการสัมผัสจะช่วยให้คนในครอบครัวเกิดพลังที่เข้มแข็ง และ ส.ที่ 3 คือใส่ใจรับฟัง (Care) มีเวลาให้คนในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน และดูแลช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ซึ่งกรมสุขภาพจิตตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 6.0 ต่อแสนประชากรภายในปี 2564

ทางด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถหาทางออกได้ในสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง จำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ จึงขอให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จซึ่งมีปีละกว่า 48,000 คน ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังในตัวผู้กระทำแค่ไหนก็ตาม ควรให้อภัย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ขอให้เข้าไปพูดคุยซักถามถึงความคิดฆ่าตัวตาย ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ จะช่วยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคลายความกังวล รู้สึกผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองดีขึ้น จะเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำได้ จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตพบว่า จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้มากถึงปีละ 400 คน

“สำหรับประชาชนทั่วไป การดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันอย่างสม่ำเสมอ รับฟัง ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีกำลังมีปัญหาอย่างใสใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยคนให้พ้นจากห้วงของความทุกข์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเรียนมาทางด้านนี้ก็ได้ หากยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ แนะนำให้โทรปรึกษาขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนสามารถประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองพร้อมแนวทางการช่วยเหลือได้ที่แอพพลิเคชั่นสบายใจ ( Sabaijai) ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ android และ ios” นพ.ณัฐกรกล่าว

สำหรับสัญญานเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตาย มี 9 สัญญาณ เมื่อพบต้องเข้าไปพูดคุยทันที ได้แก่ 1.ชอบพูดเปรยๆ หรือระบายความรู้สึกผ่านสังคมออนไลน์ว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครรัก ไร้ค่า ไม่มีใครสนใจ 2.เดินทางไปเยี่ยมคนรู้จักโดยที่ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนไปบอกลา 3.แยกตัวไม่พูดกับใคร สีหน้าเศร้าหมอง ซึมเศร้า 4.มีการแจกจ่ายของรักของหวง พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง ทำพินัยกรรมในเวลาที่ยังไม่สมควร 5.ติดเหล้าหรือใช้ยาเสพติดหนักในช่วงนี้ 6.ทรมานจากการเจ็บป่วยเรื้อรังจนต้องพึ่งยารักษาเป็นประจำ 7.นอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานานๆ 8.ประสบปัญหาชีวิตเช่น ล้มละลาย สูญเสียคนรักกะทันหัน เป็นโรคเรื้อรัง พิการจากอุบัติเหตุ และ 9.มีอารมณ์ดีขึ้นอย่างกะทันหันตรงกันข้ามกับที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงอาจแสดงว่าเขารวบรวมความกล้าและตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราและเสพสารเสพติด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตเภท ผู้ที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้ว ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดนี้มีเสี่ยงสูงกว่าประชนทั่วไปตั้งแต่ 4-100 เท่าตัว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์