เพชรบูรณ์เจอแหล่งซากดึกดำบรรพ์ 240 ล้านปี เผยสัตว์แปลกอื้อ เล็งดันเป็นอุทยานธรณีวิทยาระดับโลก

ทีมสำรวจธรณีวิทยาเพชรบูรณ์อึ้ง! แหล่งฟอสซิลบ้านโภชน์ใน 3 หมู่บ้านมีซากสัตว์เซลเดียวและปะการังยุคเพอร์เมียน อายุ 280-240 ล้านปีหนาแน่น และบางชนิดไม่เคยมีการพบมาก่อน จนต้องส่งผู้เชี่ยวชาญฯต่างประเทศช่วยตรวจสอบ เตรียมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน

วันที่ 9 กันยายน นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจ้งหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทีมธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่สำรวจแหล่งซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)อีกครั้ง ในเขตพื้นที่ 3 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ที่ 6 บ้านซับเดื่อ, หมู่ที่ 7 บ้านเนินสวรรค์, และหมู่ที่ 8 บ้านซับชมภู ของตำบลบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังไดัรับข้อมูลจากเทศบาลตำบลบ้านโภชน์ว่า พบซากฟอสซิลดึกดึกดำบรรพ์สัตว์เซลเดียวอาทิ หอยตะเกียงหลายสายพันธุ์ หอยงวงช้าง หอยเจดีย์ และปะการัง หนาแน่นและมีความหลากหลาย นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลบางชนิดซึ่งมีความแปลก และไม่มีในฐานขัอมูลว่าเป็นสิ่งมีชีวิตโดยเป็นสัตว์เซลเดียวหรือปะการัง และเคยมีการค้นพบมาก่อนหรือไม่ โดยมีนายวิกิจ เพ็ญภาค รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโภชน์ พร้อมคณะนำสำรวจแหล่งฟอสซิลในพื้นที่ด้งกล่าวรวมทั้งหมด 5 จุด

ในการสำรวจดังกล่าวพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ทั้งสัตว์เซลเดียวและปะการังหลากหลายสายพันธุ์ ยุคดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่าเป็นยุคเพอร์เมียน อายุ 280-240 ล้านปี โดยเทียบเคียงกับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยด อ.วิเชีบรบุรี จ.เพชรบูรณ์ อาทิ หอยตะเกียงหรือแบรคิโอพอด(Brachiopod), ไบรโอซัว(Bryozoa), แกรปโตไลต์(Graptolite), ปะการัง(Coral), นอติลอยด์(Nautiliod), ไครนอยด์(Crinoid), แอมโมนอยด์(Ammonoid), เซฟาโลพอด(Cephalopods), หอยกาบคู่/หอยสองฝา, ฟอสซิลของสัตว์ขนาดเล็ก(Micro fossils), หอยงวงช้าง, หอยเจดีย์, พลับพลึงทะเล ฯลฯ อยู่กระจัดกระจายและมีอยู่อย่างหนาแน่นเต็มพื้นที่ โดยบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว

นายวิกิจ เพ็ญภาค กล่าวว่า หลังสืบค้นข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆโดยเฉพาะในต่างประเทศ ฟอสซิลบางชจิดก็ไม่มีรายงานการค้นพบมาก่อน และภายหลังประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรธรณีพื่อให้ช่วยตรวจสอบ ก็ได้รับแจ้งว่าไม่เคยพบเห็นมาก่อนเช่นกันและไม่ทราบเช่นเดียวกันว่าเป็นสิ่งทีชีวิตในโลกยุคดึกดำบรรพ์หรือไม่ จึงมีการส่งข้อมูลและภาพไปให้ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศตรวจสอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังผลเช่นกัน

นายวิกิจกล่าวว่า เมื่อปี 2507 มึนักบรรพ์ชีวินเข้ามาสำรวจหาซากดึกดำบรรพ์ บริเวณเชิงเขาใกล้ๆกับน้ำตกซับชมภูในพื้นที่หมู่ที่ 8 (บ้านซับชมภู) พบหอยตะเกียงสายพันธุ์ใหม่ของโลกจำนวน 2 สายพันธุ์ และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามแหล่งที่ค้นพบคือ มาร์จินิเฟอรา บ้านโภชน์เอนซิส (Marginifera banphotensis) และ ออร์โธเททินา เพชร์บูรณ์เอนซิส(Orthotetina phetchabunensis) หลังจากนั้นก็ไม่มีการสำรวจเพิ่มเติมอีก กระทั่งล่าสุดทางจังหวัดฯประกาศให้แหล่งฟอสซิลแห่งนึ้เป็น 1 ในอุทยานธรณี จึงทำให้คนในพื้นที่เกิดความตื่นตัวจนสำรวจกันเพิ่มเติม โดยไม่คาดคิดว่าจะมีฟอสซิลหนาแน่นและหลากหลายขนาดนี้

“ล่าสุดได้มีการของบฯกรมทรัพยากรธรณีวิทยา เพื่อทำโครงการศึกษาวิจัยซึ่งทราบว่าผ่านการอนุมัติแล้วและจะเริ่มดำเนอนการในเดือนต.ค.นี้ระยะเวลา 1 ปี และขณะนี้ทางเทศบาลฯยังอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรถ์ ประกาศกันพื้นที่ 3 หมู่บ้านเนื้อที่ราว 40,000 ไร่ ห้ามมิให้เคลื่ดนย้ายหรือนำฟอสซิลออกจากพื้นที่ และหลังการศึกษาวิจัยแล้วทาบเทศบาลมีแผนและโครงการพัฒนาแหล่งฟอสซิลแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยการจัดงานบริหารงานภายใต้ชุมชน”นายวิกิจกล่าว

ด้านนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ กล่าวว่า ในการสำรวจครั้งนี้พบซากฟอสซิลมากมาย และเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์นานาชนิด บางชนิดมีความแปลกใหม่จนต้องรอผู้เชี่ยญชาญตรวจสอบ ถือเป็นการค้นพบที่ค่อนข้างมหัศจรรย์มาก ซึ่งทางจังหวัดฯมีแผนจะเสนอรวมให้เป็นแหล่งธรณีวิทยาระดับประเทศ และแหล่งอุทยานธรณีของโลกในอันดับต่อไป สำหรับแหล่งซากดึกดำบรรพ์บ้านโภชน์ สันนิษฐานอยู้ในยุคเพอร์เมียน อายุ 280-240 ล้านปี น่าจะเป็นยุคเดียวกับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยด วิเชียรบุรี เพียงแต่สัตว์ดึกดำบรรพ์ในแหล่งนี้จะมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพลับพลึงทะเล หอยตะเกียง สัตว์เซลเดียวและปะการัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์

ข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันที่ 17-18 ก.ย.นี้ ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เตรียมนำเสนอเรื่องอุทยานธรณีวิทยา(จีโอปาร์ค)เข้าสู่วาระการประชุม ครม.เพื่อผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีวิทยา(จีโอปาร์ค)ระดับประเทศและเป็นระดับโลกในโอกาสต่อไปอีกด้วย

 


ที่มา : มติชนออนไลน์