ทีมโฆษกตร.แจง “ขนตาเรืองเเสง” ไม่ห้ามแต่ควบคุม ย้ำหมอตาเตือนเสี่ยงบอด! ปคบ.สอดส่องเอาผิด

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ “ขนตาเรืองแสง” ซึ่งเป็นแฟชั่นใหม่โดยเอาหลอดไฟแอลอีดี (LED) มาติดบริเวณใต้ดวงตาและบนเปลือกตา นั้น จากการประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า สินค้า”ขนตาเรืองแสง” มีส่วนประกอบ 2 ส่วนที่สำคัญและใช้กาว เพื่อติดขนตา สรุปได้ ดังนี้ หลอดไฟแอลอีดี (LED) ที่เป็นตัวขนตาเรืองแสง ปัจจุบันถือเป็นสินค้าที่เป็นแฟชั่นใหม่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่ได้ประกาศเป็นสินค้าห้ามขายตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดจะผลิตเพื่อขาย หรือสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ต้องมีการแสดงฉลากให้ถูกต้องตาม ม.30 และ ข้อความบนฉลากตาม ม.31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากผู้ใดฝ่าฝืนโดยการไม่แสดงและมีการแสดงฉลากแต่ฉลากมีข้อความไม่ถูกต้องตามที่กำหนด จะมีความผิดฐาน “ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่การแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 30,31 อัตราโทษ ตามมาตรา 52 คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ทั้งนี้สินค้าขนตาเรืองแสง หากต่อไปเป็นสินค้าห้ามขายตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตาม ม. 36 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้สินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค หากฝ่าฝืน จะมีโทษตาม ม.56 คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ ขนตาเรืองแสง ที่มีหลอดไฟแอลอีดี (LED) เป็นส่วนประกอบ ยังไม่อยู่ในข่ายควบคุมของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  โดยในปัจจุบัน สมอ.จะมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ควบคุมเฉพาะหลอดไฟและอุปกรณ์ขับที่ให้ความสว่าง ส่วนขนตาเรืองแสงตามข่าวที่ปรากฎ มีวัตถุประสงค์เป็นแฟชั่นให้ความสวยงาม จึงยังไม่อยู่ในข่ายที่ต้องขออนุญาตจาก สมอ.ในการทำหรือนำเข้า หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายฯ ในส่วนของกาวที่เป็นส่วนประกอบ ติดขนตาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง การผลิตจำหน่าย หรือนำเข้าได้ต้องแสดงสลากตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บังคับไว้ให้ถูกต้อง คือ ใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริงไม่มีข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้า ใจผิดในสาระสำคัญ ต้องแสดงชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วิธีใช้คำเตือน เดือนปีที่ผลิตและที่หมดอายุครั้งที่ผลิตและชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้ เป็นส่วนผสมในการผลิต”รองโฆษกตร.กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ในขณะนี้ได้มีคำเตือนของจักษุแพทย์ ออกมาเตือนแล้วว่า หลอดแอลอีดีที่ติดกับเปลือกตานั้นจะทำให้ดวงตาได้รับอันตรายเนื่องจากแสงอัลต้าไวโอเล็ต จะสะท้อนเข้าตาโดยตรง เสี่ยงต่อการเกิดต้อในตาเสื่อมในระยะยาวและอาจถึงขั้นตาบอดได้

“ทั้งนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะหน่วนงานที่เกี่ยวข้องคือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต. ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด หากพบมีการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” รองโฆษกตร.กล่าว

 


ที่มา มติชนออนไลน์