เปิดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

แฟ้มภาพ

“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ สุขภาพที่แข็งแรงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะไม่ว่าจะมีทรัพย์สิน เงินทอง มากมายเท่าใด แต่สุขภาพที่ดี ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดลดลง ในขณะที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต เทรนด์การดูแลสุขภาพจึงเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

หากมองในแถบทวีปเอเชีย ประเทศไทยของเรา ถือว่ามีชื่อเสียงในด้านการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มีโรงพยาบาลมาตรฐานระดับโลกหลายแห่ง และที่สำคัญ ราคาค่ารักษา เมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับ ถือว่ายังถูกมาก ชาวต่างชาติจำนวนมากจึงนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี การทำหัตถการ การรักษาอาการเจ็บป่วย บางส่วนถิอว่าเป็นการเดินทางมาพักผ่อนและท่องเที่ยวไปในตัว

รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ส่งเสริมเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Thailand Medical Hub) ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) และได้สั่งการให้ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนที่เรียกว่า Quick Win มีวิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ภายใน 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2559-2568)” ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) พัฒนาด้านมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจสุขภาพ บริการเสริมความงาม 2. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) พัฒนาในเรื่องของมาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เช่น นวดไทยและสปาเพื่อสุขภาพ 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) การพัฒนาทางด้านการศึกษา เช่น แพทย์และผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของไทย เช่น สมุนไพร เป็นต้น

นอกจากการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพในระดับนานาชาติแล้ว รัฐบาลยังได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมให้คนต่างชาติกลุ่มเป้าหมาย ได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ โดยการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย รวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลและผู้ติดตาม ในกลุ่มประเทศ CLMV และจีน การขยายเวลาพำนักในประเทศไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว หรือ วีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราว (Non OX) อนุญาตให้พำนักได้ 10 ปี ซึ่งขอวีซ่าครั้งแรกพำนักได้ 5 ปี และต่ออายุได้อีก 5 ปี โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

มาตรการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ที่ผ่านมามีจำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทางและตรงจุด เพราะชาวต่างชาติกลุ่มนี้ เป็นชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อสูง เป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนที่ทุกประเทศต่างให้การต้อนรับ

ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่ดูแลงานด้านต่างประเทศ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดอำนวยความสะดวกคนต่างชาติที่มายื่นขออยู่ต่อประเภทดังกล่าว และดูแลการตรวจอนุญาตเข้าออกประเทศ เน้นบริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ทันสมัย สร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการ

ช่วยกันคนละไม้ละคนมือ เร่งขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า!!!

 


ที่มา : มติชนออนไลน์