‘สุวพันธ์’ เรียกถกต้าน ‘สารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ 20 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจศึกษาผลเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยการหาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนภายใน 30 วัน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 7-8 กันยายน พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2-3 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลสรุปผลการลงพื้นที่ และหาสารทดแทนที่จะนำมาใช้แทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คาดว่าในวันที่ 18 กันยายนนี้ จะรวบรวมแล้วเสร็จ และสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้ติดต่อมาว่า ในวันที่ 20 กันยายนนี้ เวลา 09.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก เป็นประธานพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 กันยายน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้มีการทำหนังสือถึงนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรฯ ให้ยุติการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชนทันที และให้มีการสอบสวนเชิงลึกว่ามีการเอื้อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตรหรือไม่ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเคมี 500 รายต่อปี จึงไม่ทราบว่าจะต้องมีการประชุมหรือพิจารณาอะไรอีก

“เมื่อวันที่ 16 กันยายน ในการชุมนุมต่อต้านการใช้สารเคมี ได้มีการหารือกับแกนนำภาคประชาชน ทั้ง น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ฯลฯ เห็นควรว่าต้องมีการทำสมุดปกเขียวเรื่องการใช้สารทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งมีวิธีธรรมชาติเพื่อคงความหลากหลายของพื้นดินและกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากอยู่แล้ว จึงรู้สึกรับไม่ได้ หากรัฐบาลยังยื้อเวลาให้มีการใช้ต่อโดยให้มีการจำกัดพื้นที่ หรืออนุญาตให้สามารถใช้ในพืชเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 กันยายนนี้ จะมีการการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนฯ ซึ่งที่ผ่านมา มีกลุ่มอุตสาหกรรมสารเคมียื่นเรื่องคัดค้าน ก็ยังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร และหากถูกตีตกไป ก็ไม่ทราบว่าในอนาคตสุขภาพของคนไทยและการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีจะเป็นอย่างไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ที่มา:มติชนออนไลน์