“บิ๊กป้อม” เร่งแก้หนี้นอกระบบ 20 ก.ย.คืนโฉนดที่ดินรอบ 3

‘บิ๊กป้อม’ เร่งแก้หนี้นอกระบบ 20 ก.ย.คืนโฉนดที่ดินรอบ 3 ‘คงชีพ’ ลั่นคนเชื่อมั่นเข้าร่วมโครงการเพิ่ม 6 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 17 กันยายน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าจากการที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ รับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเดือดร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยยึดหลักให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ตามข้อเท็จจริง ด้วยการจัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อทำข้อตกลงตามที่กฎหมายกำหนด สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายเป็นที่เรียบร้อยกว่า 3,300 ราย อยู่ระหว่างเจรจา 1,200 ราย คืนทรัพย์สินให้ประชาชนได้เกือบ 4,000 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดิน กว่า 3,000 ฉบับ และสามารถดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ทั้งสิ้น 330 ราย ยึดของกลางได้มูลค่ากว่า 360 ล้านบาท วันที่ 20 กันยายนนี้ ฝ่ายความมั่นคง จะส่งมอบโฉนดที่ดินและทรัพย์สินอันถูกฉ้อโกงจากเจ้าหนี้คืนให้กับประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ตามนโยบายพล.อ.ประวิตร ที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่จมกับปัญหาหนี้นอกระบบ ให้สามารถกลับมายืนได้ด้วยตนเอง โดยพล.อ.ประวิตร จะเป็นประธานมอบ โฉนดที่ดินคืนให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานครั้งที่ 3 ที่ จ.กาฬสินธุ์

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตร มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูปัญหาหนี้นอกระบบในตลาดชุมชน ขณะนี้ประชาชนมีความเชื่อมั่นการทำงานของฝ่ายความมั่นคงมากขึ้น ได้รับการร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากประชาชนเพิ่มกว่า 6 หมื่นราย ลูกหนี้ที่ได้รับการคลี่คลายปัญหาและเข้าสู่ระบบแล้ว กระทรวงแรงงานและธนาคารของรัฐ จะลงไปให้คำแนะนำและเสริมทักษะการประกอบอาชีพให้มีความเข้มแข็งทางอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งทุน กระทรวงการคลัง ได้จัดหาแหล่งทุนให้ประชาชนเข้าถึงได้ เช่น พิโกไฟแนนซ์ รวมถึงการจัดทำธนาคารชุมชุน ให้ประชาชนรู้จักการออมโดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินทุนเข้าไปส่วนหนึ่ง เพื่อกระจายให้ชุมชุนสามารถดูแลกันเองได้ นอกจากนี้สิ่งที่พบจากการลงพื้นที่ คือการกู้หนี้ฉุกเฉินของประชาชนส่วนใหญ่ ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลและการศึกษา จะเป็นข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ปรับความเหมาะสมในการพัฒนาระบบสวัสดิการ เช่น บัตรทองการรักษาพยาบาล และกองทุนเพื่อการศึกษา ให้เหมาะสมกับประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์