เดือดร้อนหนัก! “กรมอุทยานฯ” จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เร่งแก้ปัญหา “ช้างป่าละอู” บุกสวนทุเรียน

วันที่ 15 สิงหาคม นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกรณีมีโขลงช้างป่าขนาดใหญ่ใกล้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกทำลายสวนทุเรียนได้รับความเสียหาย และ อบต.ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาได้ตามปกติปีละหลายล้านบาท หลังจากได้รับการทักท้วงจากเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งรายงานว่าการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาผลกระทบไม่ใช่ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของ อบต. สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว อบต.ได้เสนองบประมาณ 29 ล้านบาท เพื่อสร้างรั้วกันช้างป่า ล่าสุดได้รับแจ้งว่าในปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบประมาณเพียง 15 ล้านบาท ขณะที่ อบต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ใกล้ชิดกันได้รับงบประมาณเต็มจำนวนเพื่อสร้างรั้วกันช้างความยาว 15 กิโลเมตร ( กม.)

นายกิตติกรณ์ เทพอยู่อำนวย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าละอูทำลายพืชสวนในพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ยอมรับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายต้องประสานงานเพื่อแก้ไขเพื่อไม่ให้มีผลกระทบและความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และหลังจากการสำรวจ ล่าสุดพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจำนวนมากทำให้กระทบกับการหากินในระบบนิเวศวิทยาพื้นที่ธรรมชาติของสัตว์ป่า ประกอบกับพฤติกรรมของช้างป่าในปัจจุบันมีลักษณะใกล้เคียงกับช้างบ้าน ทั้งการเดินบนถนน การบุกเข้าไปกินทุเรียนในสำนักงานสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ โดยไม่เกรงกลัวการขับไล่ด้วยประทัดยักษ์ เนื่องจากใช้วิธีการดังกล่าวมานานและไม่เกิดอันตราย ที่สำคัญสำนักงาน ปภ. ไม่สามารถดำเนินการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือได้ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมดของ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตปลอดภัยทางทหาร และพื้นที่ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่มีประชาชนรายใดมีเอกสารสิทธิครองครองที่ดินแม้แต่แปลงเดียว

นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ความสนใจแก้ไขปัญหาช้างป่าละอูออกหากินนอกพื้นที่อุทยานฯโดยเชิญเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น โดยสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารในพื้นที่ป่าธรรมชาติจำนวน 3 จุด และระยะยาวจะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทำกินของประชาชนบางส่วน และขอให้หน่วยงานระดับพื้นที่จัดสรรงบเพื่อทำรั้วกันช้างโดยเร็ว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์