วงเสวนาเผยจะบิ๊กดาต้าหรือไม่ ต้องรู้จัก “ข้อมูล” ให้ถ่องแท้ ระบุต้องตื่นตัว-ติดตาม-เปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 ในงานมหกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติ “Digital Thailand Big Bang 2018: Thailand Big Data” มีการเสวนาหัวข้อ “Big Data กับการพัฒนาประเทศไทย ” โดย รศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์ รองประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT), ปฐม อินทโรดม คณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสิทธิภรณ์ เมืองกลาง ที่ปรึกษาสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า ข้อมูลจะเป็นบิ๊กดาต้าหรือไม่นั้นไม่สำคัญแต่จะต้องทำให้ข้อมูลนั้นเกิดมูลค่า ปัญหาใหญ่คือ “บุคลลากร” ที่ต้องคิดว่าเราจะผลิตคนให้มีวิธีคิดเข้าใจถึงข้อมูลได้อย่างไร โดยจะต้องมีหลายส่วนประกอบกันคือ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ต้องเป็นคนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และจะต้องเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่สามารถมีทั้งสามส่วนในคนคนเดียวได้ เพราะฉะนั้นการทำงานเรื่องบิ๊กดาต้าจะต้องทำงานในลักษณะของทีมเวิร์ก

ขณะที่ปฐม อินทโรดม ระบุว่า เป็นความกังวลใจว่าในขณะที่ประเทศอื่นกำลังไปดาวอังคาร ประเทศไทยบอกว่าไปด้วย ก้าวขึ้นในขบวนเดียวกัน มันไม่ได้ทำให้เราไปถึง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะไปถึงเรื่องบิ๊กดาต้า ต้องเข้าใจก่อนว่า เราเข้าใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลดีหรือยัง ขณะที่ในองค์กรเองก็ต้องปรับโครงสร้างของข้อมูลให้พร้อมก่อน ฉะนั้นบิ๊กดาต้าคือการ forcast เก็บข้อมูลเป็นประจำ และสามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์มหาศาล

“ขอยกตัวอย่างคือ วีแชทของเทนต์เซนต์ ด้วยนิสัยของคนจีนที่ชอบค้าขาย และเมนเซนต์เห็นเทรนด์จึงได้สร้าง วีแชทเพย์ ขึ้นมา พร้อมทั้งเห็นพฤติกรรมของลูกค้าจากข้อมูลที่มีเปิดเป็น วีแบงก์ ขึ้นมาโดนไม่พึ่งสาขา สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลนั้นมีค่าขนาดไหน”

นอกจากนั้นคณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยังระบุอีกว่าในปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยถือว่าดีขึ้นมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาภาครัฐได้นำเทคโนโลยีทั้งหลายเข้ามาใช้เยอะมาก สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว และการจะทำให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วมในเทคโนโลยี จะต้องหาสิ่งที่ดึงดูด พร้อมทั้งดูบริบทเป็นองค์ประกอบด้วย

ส่วนองค์กรภาครัฐ เอกชนจะนำเรื่องของบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้พัฒนา และบริหารข้อมูลอย่างไรนั้น “ปฐม” กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการปรับองค์กรเป็น data focus organization สิ่งที่สองคือการคิดถึงข้อมูล ที่ไม่ควรจะคิดแต่ข้อมูเฉพาะหน้า ต้องคิดในเชิงการวางระบบว่าสิ่งที่เราจะเอาไปใช้ต่อเนื่องในอนคาคตมีอะไรบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่ได้มาแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะกลายเป็นขยะข้อมูลกองโต

“การจะเป็นประเทศที่ใช้บิ๊กด้าต้านั้นต้องอย่ารีบร้อน หาพระเอกขี่มาขาวมาช่วย คิดว่าลงทุนซื้อเทคโนโลยีมาแล้วมันจะตอบโจทย์กับองค์กรทุกอย่าง สิ่งเหล่านั้นมันไม่มี เพราะฉะนั้นจะต้องสร้าง data mindset ให้กับคนในองค์กรเข้าใจก่อน”

ด้านสิทธิภรณ์ เมืองกลาง ระบุว่า บิ๊กดาต้าเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่เราต้องดูก่อนว่าเรามีอะไรบ้างที่สามารถทำให้ประเทศก้าวไปได้ สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของโครงสร้างข้อมูล ที่จะต้องเข้าใจข้อมูลที่ตัวเองมีก่อน และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการนำบิ๊กดาต้ามาใช้คือ “smart people” และ 4C ที่สำคัญในยุคศตวรรษที่ 21 คือ critical thinking, communication, creation และ collaboration