อดีตรองคณบดี มช.เห็นด้วย “ปรับบำนาญ” บอกถึงเวลาปรับปรุง

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พี่ชายนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เผยกรณีสหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อ สนช. เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำเหน็จบำนาญ ฉบับใหม่ว่า สนช.ได้รับเรื่องไว้แล้ว ซึ่งหน้าที่ สนช. คือ หาคำตอบ และความเป็นไปได้ ที่ให้มีกฏหมายฉบับใหม่แทนกฏหมายฉบับเดิม โดยนำมาวิจัย วิเคราะห์ เพื่อให้คำตอบแก่ผู้ที่มายื่นร่างกฏหมายดังกล่าวภายใน 45 วัน ซึ่ง สนช.ไม่มีอำนาจเสนอกฏหมายดังกล่าว เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยตรง ต้องเป็นนโยบาย หรือรัฐบาล ผลักดันกฏหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เอง ดังนั้นต้องหารือและพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อความรอบคอบ รวมทั้งคำนึงถึงวินัยการคลัง ฐานะการเงินของประเทศ ส่วนตัวเห็นว่า พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ มีใช้มาตั้งแต่ปี 2494 หรือ 67 ปีที่ผ่านมา แต่แก้ไขปรับปรุงเพียงครั้งเดียว เมื่อปี 2510 หรือ 51 ปีที่แล้ว ที่ให้เงินบำนาญเดือนละ 9,000 บาท บวกกับอายุราชการ แล้วหารครึ่ง เพื่อเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณอายุราชการ ซึ่งบางรายได้รับเงินบำนาญ 10,000-20,000 บาท/เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นรายได้คงที่ แต่ค่าเงินกลับลดลงทุกปีตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพในปัจจุบัน

“อย่างไรก็ตาม หาก สนช.ไม่มีอำนาจพิจารณากฏหมายที่ข้าราชการบำนาญเสนอโดยตรงได้ ยังมี 2 ช่องทางที่ทำได้ คือ ยื่นร่างกฏหมายดังกล่าวไปให้รัฐบาลพิจารณาก่อน หรือใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวบรวมรายชื่อ 30,000 คนเสนอร่างกฏหมายดังกล่าวได้” นายปรีชากล่าว

ด้านนายวสันต์ จอมภักดี อดีตรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะข้าราชการบำนาญ ที่เกษียณอายุราชการมา 7 ปี แล้ว กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำได้ปรับเป็น 320 บาท/วันแล้ว หากเป็นฝีมือแรงงาน ได้ค่าจ้างวันละ 500-600 บาท แต่ไม่เห็นด้วยถ้ามีการปรับเงินบำนาญ หรือรายได้ให้แก่คนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นควรใช้โอกาสดังกล่าว ปรับหรือเพิ่มรายได้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยผ่านสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น เยอรมัน ไม่ว่าเป็นข้าราชการ หรือประชาชน หลังเกษียณอายุ มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง ไม่ต้องกังวลกับรายได้ว่าเพียงพอกับค่าครองชีพหรือไม่

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์