ศาลฎีกาไม่รับฎีกา ตัวแทนขาย จีที 200 หลังอุทธรณ์ให้ชดใช้ 9 ล้าน ‘กรมราชองครักษ์’ เหตุคุณภาพไม่ตรงโฆษณา

เมื่อวันที่ 22กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ได้อ่านคำสั่งขออนุญาตฎีกา ในคดี ทางเเพ่ง ครพ.ผบ.1314/2561 ที่กรมราชองครักษ์โจทก์ กับ บริษัทเอวีเอ แซทคอม จำกัด , นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ,นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ ,นางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ และ น.ส.พันธวีทรัพย์ สุดยาใจ เป็นจำเลยที่ 1-5ใน คดีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดและยาเสพติดรุ่น GT200 จำนวน 2 ชุด ชุดละ 900,000 เป็นเงิน1.8 ล้านบาท เครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 จำนวน 3 ชุด วงเงิน 3.6 ล้านบาท เครื่องตรวจหา สสาร ระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ โกลบอล รุ่น GT200 จำนวน 3 ชุด วงเงิน 3.6ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท ที่มีปัญหาไม่สามารถใช้การได้

โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่าโจทก์เป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกลาโหมมีฐานะเป็นกรมมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการเเทนพระองค์ พระบรมศานุวงศ์ ผู้เเทนพระองค์ เเละพระราชอาคันตุกะ ตามกฎหมายว่าด้วยราชองครักษ์เเละกฎหมายอื่นๆว่าด้วยการถวายความปลอดภัย ส่วนจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลในรูปเเบบริษัท ประกอบกิจการค้าเเละซ่อมเเซมเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรวมถึงอุปกรณ์อะไหล่ โดยจำเลยทั้ง 5 รู้อยู่เเล้วว่าสินค้าที่นำเสนอต่อโจทก์ไม่มีคุณสมบัติตามที่จำเลยเสนอขายเมื่อปี 2550 โดยจำเลยร่วมกระทำการยื่นใบเสนอราคา พร้อมเเคทตาล็อก เเละเอกสารเเสดงรายละเอียดเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดและยาเสพติดรุ่น GT200 จำนวน 2 ชุด ชุดละ9เเสนเป็นเงิน1.8 ล้านบาท เท่ากับราคากลางที่ทางราชการกำหนดไว้

พวกจำเลยกล่าวอ้างคุณลักษณะประสิทธิภาพเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯเเละยืนยันว่าเป็นเครื่องมือที่มีความเชื่อถือได้สูง ได้รับการยืนยันกองทัพบกอังกฤษเเละกระทรวงกลาโหมเนเธอร์เเลนด์ ซึ่งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของโจทก์ได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอราคา คุณสมบัติเเล้วหลงเชื่อว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯ GT200 ของจำเลยที่ 1 มีคุณภาพตรงตามใบเสนอราคา จึงหลงเชื่อ เเละเมื่อวันที่ 2พฤศจิกายนโจทก์ได้เข้าทำสัญญาซื้อขาย,ตรวจรับพัสดุ ตามลำดับเเต่ยังไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพการใช้งาน เนื่องจากก่อนส่งมอบจำเลยต้องจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่โจทก์ คณะกรรมการจึงเชื่อว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯมีคุณภาพตามที่กำหนดในสัญญาจึงชำระเงินครบถ้วน โดยภายหลังการรับมอบโจทก์ได้นำเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯไปประจำขบวนเสด็จฯขณะนั้นไม่ปรากฏปัญหาการใช้งานเนื่องจากการถวายความปลอดภัยมีการตรวจสอบความปลอดภัยหลายขั้นตอน ต่อมาโจทก์จึงมีนโยบายจัดซื้อเครื่องตรวจสสารระยะไกลเพิ่ม จำนวน6ชุดจึงสอบถามรายละเอียดไปยังพวกจำเลย โดยจำเลยที่4เป็นผู้จัดการจำเลยที่1มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อเครื่องค้นหาสสารระยะไกลว่ามีประสิทธิภาพ จึงส่งใบเสนอราคาพร้อมเงื่อนไข โจทก์จึงดำเนินการจัดซื้อเครื่องค้นหาสสารระยะไกลจำนวน3ชุด ราคาชุดละ 1.25 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3.75ล้านบาทเท่ากับราคากลางที่ราชการกำหนดไว้ซึ่งมีผู้เสนอราคา1รายคือพวกตำเลยเหมือนกับการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯ2เครื่องโดยคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้ตรวจคุณสมบัติผู้เสนอราคาเเละได้ต่อรองจำเลยที่1ลดราคาเหลือ 3.6ล้าน ซึ่งหลังการใช้งานก็ไม่พบปัญหาการใช้งานเช่นเดียวกัน ต่อมาจึงได้มีการจัดซื้อ เครื่องตรวจจับโกลบอล รุ่น GT200 จำนวน 3 ชุด วงเงิน 3.6ล้านบาท รวมเป็นทั้งหมด3ชุดใหญ่รวมมูลค่า 9ล้านบาท

ต่อมา โจทก์ได้ให้ข้าราชการเข้าฝึกอบรมการใช้เครื่องตรวจจับอาวุธเเละทำการตรวจสอบเครื่องตรวจจับอาวุธดังกล่าวพบว่าไม่มีคุณภาพเเละคุณลักษณะอันเป็นสาระสำคัญจึงงดใช้เครื่องในการถวายความปลอดภัยโจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้ง3ฉบับเเละให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายใน 7 วันชำระเงิน 12,893976.41พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5ของเงินต้น9 ล้านบาทนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระ

จำเลยทั้ง5ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้หลอกลวงเสนอขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯทั้ง 3ชุด เรื่องจากไม่มีความรู้ด้านไฟฟ้าที่จะหลอกลวงโจทก์เเละเครื่องดังกล่าวมีใช้ในหน่วยงานกองทัพอากาศ โดยโจทก์เป็นผู้ติดต่อเเจ้งความประสงค์ต้องการซื้อโดยที่จำเลยไม่เคยโฆษณาประชาสัมพันธ์เสนอขายชักชวน เเละจำเลยที่1เข้าใจโดยสุจริตว่าเครื่องตรวจับวัตถุระเบิดดังกล่าวมีคุณสมบัติใช้งานได้

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5ต่อปี นับเเต่26 เมษายน กำหนดค่าทนายโจทก์ 2 หมื่นบาท ส่วนจำเลย 2-5ให้ยกฟ้อง

ต่อมาจำเลยที่ 1ยื่นอุทธรณ์

โดยศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังสรุป ได้ว่า โจทก์ประสงค์จัดหาเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดฯเพื่อใช้ถวายความปลอดภัยฯ ได้สอบถามข้อมูลไปยังจำเลยที่1ซึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เเทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดฯของบริษัทโกลบอลเทคนิคอล จำกัด ประเทศสหราชอาณาจักรเเต่เพียงผู้เดียว เเละมีการส่งใบเสนอราคา รายละเอียดคุณลักษณะเเละโจทก์เชื่อว่าเครื่องมีคุณภาพตรงตามความต้องการ เเละชำระเงินให้จำเลยที่ 1ครบถ้วน ต่อมาโจทก์ให้ข้าราชการในสังกัดทดสอบเเต่ไม่สามารถหาสสารได้ตรงตำเเหน่งจึงขอให้จำเลยที่1ตรวจซ่อม เเต่พบว่าค่าเฉลี่ยถูกต้องเพียงร้อยละ 55.5 จึงเห็นเครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เห็นว่าการที่โจทก์ซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดฯ GT200 โดยคาดหมายว่าเครื่องดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเอกสารการโฆษณาเเสดงรายละเอียด เงื่อนไขคุณลักษณะเฉพาะท้ายใบเสนอราคา เเม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1เป็นตัวเเทนบริษัทโกลบอลเทคนิคอล จำกัด ประเทศสหราชอาณาจักร เเละไม่ทราบมาก่อนว่าเครื่องดังกล่าวไม่มีคุณภาพตามที่ได้โฆษณาทั้งมิได้เป็นหุ้นส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเเต่จำเลยที่ 1ก็เป็นผู้เสนอราคาต่อโจทก์เเละเป็นผู้สั่งซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธเเละวัตถุระเบิดGT200 จาก บริษัทโกลบอลฯ  เเล้วนำมาจำหน่ายเเก่โจทก์อันเป็นการประกอบธุรกิจโดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ติดต่อซื้อขายบริษัทผู้ผลิตที่ต่างประเทศโดยตรง

ทั้งตามสัญญาซื้อขายก็ระบุชัดเเจ้ง โจทก์ในฐานะผู้ซื้อทำสัญญากับจำเลยที่1ในฐานะผู้ขายจำเลยที่1จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200ที่มีคุณภาพเเละคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ในเอกสารท้ายสัญญาซื้อขายที่ให้เเก่โจทก์ไว้ เเละตามสัญญา 1วรรคสุดท้าย ระบุที่ว่า ในกรณีที่เป็นการซื้อสิ่งของซึ่งจะต้องมีการตรวจทดลอง ผู้ขายรับรองว่า เมื่อตรวจทดลองเเล้วต้องมีคุณภาพคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ด้วย

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเครื่องดังกล่าวไม่สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดไว้ท้ายสัญญาเเละไม่ตรงตามความต้องการของโจทก์ที่ต้องใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการตรวจสอบความปลอดภัยโดยถือเอาประสิทธิภาพการใช้งานเป็นสำคัญ การที่โจทก์ทำสัญญาจึงถือว่าโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญตัวทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุเเห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพานิชย์มาตรา 156 ทั้งถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายเเรงที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อนรับเครื่อง เนื่องจากมีคำรับรองประสิทธิภาพตามท้ายใบเสนอราคา ทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถใช้งานได้ เมื่อสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะเท่ากับว่าผลการซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นเเละไม่ก่อสิทธิใดๆ จำเลยที่ 1 ที่ยึดถือเงินโจทก์ไว้ในฐานะผู้ขายต้องคืนเงินเเก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในฐานะลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพายิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา406 ส่วนที่อ้างว่าโจทก์รู้เเต่ต้นว่าเครื่องดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบการใช้งานได้100%จึงนำไปใช้เพียงอุปกรณ์การตรวจสอบเท่านั้นจึงไม่ใช่กรณีโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุเเห่งนิติกรรม

เห็นว่าข้ออ้างเป็นเพียงความเข้าใจจำเลยที่ 1 เอง หากโจทก์ทราบว่าเครื่องดังกล่าวใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ 100%ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ต้องใช้งบประมาณเเผ่นดินจำนวนมากจัดซื้อเครื่องดังกล่าวมาใช้ในภารกิจสำคัญ ส่วนที่อ้างว่าคดีหมดอายุความเนื่องจากจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของไม่ตรงตามคำพรรณา โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายใน1 ปีนับเเต่วันส่งมอบ ซึ่งโจทก์ทราบว่าเครื่องใช้งานไม่ได้ตั้งเเต่ปี2555 เเต่โจทก์ฟ้องคดี 6 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นระยะเวลาเกิน1ปีจึงขาดอายุความ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนทรัพย์คือเงินพร้อมดอกเบี้ยเเก่โจทก์จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของไม่ตรงตามคำพรรณาที่ต่อสู้ไว้ จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ต่อมาจำเลยขออนุญาตฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่าการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงว่าขาดอายุความเรื่องใด ศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์เเผนกคดีคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องวินิจฉัยทุกประเด็นที่เกี่ยวกับอายุความ คดีนี้โจทก์ทราบเรื่องที่เครื่องตรวจจับอาวุธ ไม่สามารถทํางานได้เมื่อวันที่ 2 และ 3 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ภายในเวลา 1 ปี นับแต่ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 โจทก์ก็นําคดีมาฟ้องวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2558 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จําเลยที่ 1 ไม่อาจทราบรายละเอียดสินค้าได้ทุกประเภท จึงไม่ทราบว่าเครื่องตรวจจับอาวุธดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงไม่อาจอ้างเรื่องสําคัญผิดในสาระสําคัญของนิติกรรมเพื่อให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะได้หรือไม่ นั้น ไม่เป็นปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองและข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 13 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 51

จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยที่ 1 ฎีกา ยกคําร้อง และไม่รับฎีกาของ จําเลยที่ 1

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์