เลขา ป.ป.ส.เผย 10 วัน ชง “บิ๊กจิน” ดูข้อดี ข้อเสีย กัญชา ตัดสินใจใช้ ม.44 แย้มกังวลเรื่องควบคุม

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่โรงแรมโนราบุรี รีสอร์ท เกาะสมุย นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงการเสนอใช้คำสั่ง คสช. ม.44 พืชเสพติดกัญชา ให้สามารถใช้ทดลองวิจัยในมนุษย์ได้ว่า หลังจากมีกฎหมายตั้งแต่ปี 2559 ที่อนุญาตให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีกฏหมาย 2 ฉบับ ที่ให้อนุญาตหน่วยงานราชการ ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ตั้งแต่ปี 2560 โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อนุญาตเพื่อผลิตปลูก นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ในส่วนของพืชกัญชานั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่การอนุญาตนั้นจะให้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต ขอมาเพื่อนำไปทดลองสกัดทำยา เพียงแต่ผลหรือการทดลองของพืชกัญชายังไม่สามารถนำมาทดลองในผู้ป่วยที่เป็นคนได้ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายศิรินทร์ยากล่าวว่า ส่วนประเด็นข้อกังวลที่เกรงว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะออกกฎหมายเรื่องพืชกัญชาไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ และขอให้ใช้อำนาจ ม.44 นั้น ขณะนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบ หมายให้ ป.ป.ส. ไปศึกษาความเป็นไปได้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเกรงว่ากฏหมายที่อยู่ในสภาจะล่าช้า ทั้งนี้คาดว่า ภายใน 7-10 วัน ป.ป.ส.จะเสนอรายละเอียดถึงความจำเป็นและเหตุผลในการเสนอว่าเป็นอย่างไร เพื่อเสนอให้คสช.พิจารณาต่อไป

“โอกาสในการใช้กฎหมายพิเศษนั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่ ป.ป.ส.มีหน้าที่ทำตามที่ พล.อ.อ.ประจิน สั่งการ โดยกำลังให้เจ้าหน้าที่ศึกษาข้อดีข้อเสียทุกด้านอย่างละเอียด ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะต้องมี และก็ต้องมองข้อเสียอย่างรอบด้าน และจากการศึกษาพบว่ามีข้อดีเยอะกว่าข้อเสีย และพูดคุยตัวอย่างยากับ สธ. เพื่อพิจารณา” นายศิรินทร์ยากล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า หากมีการนำไปใช้ทดลองในคนได้ตามกฎหมายจะรักษาผู้ป่วยได้และมีผู้ป่วยรอใช้ยาจากอาการเจ็บป่วย เช่น โรคลมชัก พากิสสัน แพ้คีโม ฯลฯ ซึ่งถ้ามันไม่ดีแล้วเราจะเสนอทำไม แต่เพียงแค่พิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเร็วมากขนาดไหนในการใช้กฎหมายพิเศษ

นายศิรินทร์ยากล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการศึกษาดูงานในต่างประเทศพบว่าพืชกัญชาบางทีก็ไม่ได้รักษาโรคหายสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่าง ประเทศออสเตรียปลูกกัญชาก็ปลูกอยู่ในเฉพาะโรงเรือนเพื่อนำมาสกัดน้ำมันกัญชา ซึ่งปลูกกัญชาเพียง 2-3 ไร่ เท่านั้น เพื่อนำมาใช้สำหรับทดลอง ไม่ใช่ปลูก 5,000 ไร่ อีกทั้งต้องดูเรื่องสายพันธุ์ การผลิต การปลูก เพราะเรายังจัดกัญชาอยู่ในพืชยาเสพติดประเภท 5 โดยทางการแพทย์พบหากเสพมากจะกระทบต่อสมองผู้เสพ

นายศิรินทร์กล่าวว่า สำหรับเรื่องการขออนุญาตต่างๆเกี่ยวกับพืชกัญชาต้องขอไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาต่อไป ส่วนการดูแลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทาง ป.ป.ส.เองมีความกังวลและต้องมีมาตรการจัดการดูแลอย่างรัดกุมสำหรับกลุ่มพืชกัญชา เนื่องจาก ป.ป.ส.กลัวดอกกัญชา จะถูกนำไปใช้ผลิตยาเสพติด เพราะมีการปลูกเป็นจำนวนมาก เรื่องกัญชาต้องมีความละเอียดกว่าเรื่องกัญชงในทุกมิติ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของคำสั่ง พิเศษ หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ ก็ต้องระบุเรื่องการควบคุมการจัดเก็บ ผลผลิตปริมาณ คล้ายๆกับกัญชงที่กฎกระทรวง นั้นระบุรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นกัญชายิ่งต้องมีรายละเอียด อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

“รมต.สธ.จะมีการกำหนดพืช ยาเสพติดประเภทไหนที่สามารถใช้ได้ แต่ปัญหาคือกฎหมายยาเสพติด ที่ยังห้ามนำกัญชาไปวิจัยใช้ทดลองในคนไม่ได้ ตรงนี้ต้องมีการพิจารณาดูอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อนำไปทดลองใช้ในคนได้ เรื่องข้อดีของกัญชา ตอนนี้ไม่มีใครเถียง ซึ่งในประมวลกฎหมายยาเสพติดก็มีการเขียนระบุการนำไปใช้ ดังนั้นถ้าไม่ดีก็คงไม่เสนอในกฎหมายใหม่ แต้ตอนนี้ที่เป็นประเด็นคือมีความจำเป็นเร่งด่วน มากน้อยแค่ไหน ในการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งต้องรอพล.อ.อ.ประจินเป็นผู้พิจารณาป.ป.ส.มีหน้าที่เสนอผลการศึกษาเท่านั้น ” นายศิรินทร์ยากล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ส่วนพืชกระท่อมนั้น ยังอนุโลมให้ใช้ในวิถีชีวิตกินเคี้ยวปกติยังอนุญาตให้สามารถทำได้ แต่ไม่ให้นำไปต้มกินเป็นยาเสพติดเด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย ส่วนประเด็นบริษัทเครื่องดื่มดัง ทำเบียร์กัญชาขายในต่างประเทศนั้นจาการตรวจสอบพบว่ามีจริง ซึ่งเป็นกระป๋องโดยมีสารกัญชาแต่ไม่แอลกอฮอล์ และขายในร้านขายยาในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดช่วงอายุผู้ซื้ออย่างชัดเจน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์