นายกฯย้ำต้องใช้ได้จริง-ราคาชาวบ้าน หลังสกว.ยกทีมโชว์ตัวอย่างงานวิจัย ฉลองครบรอบ 25 ปี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายอภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยภายหลังนำคณะเจ้าหน้าที่ และนักวิจัย สกว.เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” จัดขึ้นวันที่ 25-26 สิงหาคม ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 สยามพาราอน พร้อมนำตัวอย่างผลงานวิจัยมาแสดงแก่คณะรัฐมนตรี 3 ผลงาน ได้แก่ ผนังคอนกรีตกันกระสุนแบบหลายชั้นจากเส้นใยเหล็กและแผ่นยางพารา 2.ไม้สำเร็จรูปประหยัดพลังงาน-ทนน้ำทะเล และ 3.บ้านปลอดยุง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามนักวิจัยว่าขายได้จริงหรือยัง ผ่านมาตรฐานรับรองของหน่วยงานตามที่กำหนดหรือไม่ อีกทั้ง ราคาต้องเข้าถึงชาวบ้านทั่วไปด้วย ไม่เฉพาะแต่ผู้มีฐานะดีเท่านั้น

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัย สกว.ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.โครงการ “การพัฒนาผนังคอนกรีตกันกระสุนแบบหลายชั้นจากเส้นใยเหล็กและแผ่นยางพาราเพื่อลดการทะลุผ่านและสะท้อนกลับของกระสุน” โดย ศ.ดร.ปิติ สุคนธสุขกุล นายบูชิต มาโห้ และ ดร.สิทธิศักดิ์ แจ่มนาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนาผนังคอนกรีตกันกระสุนที่ลดการทะลุผ่าน และสะท้อนกลับกันกระสุน เนื่องจากที่ผ่านมาเน้นการป้องกันการทะลุผ่านของกระสุนปืนเป็นหลัก แต่บางครั้งอาจเกิดการสะท้อนกลับของกระสุนปืน และการกะเทาะออกของเศษคอนกรีต ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน

2.โครงการ “สมบัติทางความร้อน สมบัติทางเสียง กำลังอัด การต้านทานเชื้อจุลินทรีย์ และความทนทานต่อการใช้งานในสภาวะริมทะเลของบ้านพักอาศัยที่ทำจากวัสดุผสมระหว่างพีวีซี และผงขี้เลื่อยไม้” โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ และนายศิริชัย ก้านกิ่ง คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งออกแบบเพื่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียว ซึ่งมีการประกอบกันของผนังทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน โดยปราศจากการยึดด้วยโลหะ หรือน็อคดาวน์ โครงร่างบ้านพักอาศัยในงานวิจัยนี้สร้างขึ้นจากวัสดุผสมระหว่างพอลิไวนิลคลอไรด์กับผงขี้เลื่อยไม้ยางพารา เพื่อให้แข็งแรง น้ำหนักเบา ใช้แรงงาน เวลา และพื้นที่สำหรับการเข้าไปติดตั้งน้อย ที่นักวิจัยเลือกใช้ไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีจุดเด่นในด้านปริมาณพื้นที่ผิวจำเพาะ และขนาดของรูพรุนที่สูง มีอัตราส่วนของความยาวต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ต่ำ และเมื่อผสมลงในพอลิไวนิลคลอไรด์แล้ว จะทำให้วัสดุผสมที่ได้มีความไม่ชอบน้ำสูง โดยนักวิจัยได้ออกแบบ และจัดสร้างเป็นบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียว และศึกษาอิทธิพลของสภาพแวดล้อมริมทะเลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติต่างๆ

3.โครงการ “นิเวศวิทยาของยุงและแมลงวันคอกสัตว์ และนัยยะความเป็นไปได้ในการใช้สารสกัดพืช เพื่อควบคุมแมลงพาหะนำโรค” โดย ศ.ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.และคณะ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในการนำไปใช้ป้องกันยุงกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สกว.พร้อมกับจดสิทธิบัตรเครื่องมือศึกษาคุณสมบัติของสารเคมี เพื่อสร้าง “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไล่ยุงคุณภาพ” โดยงานวิจัยนี้เป็นต้นแบบที่นำมาใช้ภายในบ้านเพื่อไล่ยุงในบ้านให้ออกจากบ้าน หรือป้องกันไม่ให้ยุงเข้าบ้าน โดยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าม่านไล่ยุง วอลเปเปอร์ไล่ยุง สีทาบ้านไล่ยุง เฟอร์นิเจอร์ไล่ยุง (เตียง ตู้ โต๊ะ) เป็นต้น ซึ่งได้แสดงไว้ใน “โมเดลต้นแบบบ้านปลอดยุง” ผลงานวิจัยยังทำให้ชุมชนได้ตระหนักถึงพื้นที่เสี่ยงที่ควรระมัดระวัง และแสดงให้ทราบช่วงเวลาที่พาหะนำโรคออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยให้ประชาชนร่วมทำงานวิจัยแบบอาสาสมัคร ทำให้ได้รับความรู้ไปพร้อม ๆ กับนักวิจัยและสามารถนำไปถ่ายทอดใช้จริงในชีวิตประจำวัน

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์