รู้แล้ว! ทำไมน้ำท่วมกรุงเทพฯ รองผู้ว่าฯกทม.เผยสถานีสูบน้ำ 63 แห่ง ไม่เคยปรับปรุง

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่มกำลังสูบจาก 4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.) เป็น 8 ลบ.ม.ต่อวินาที ขุดลอกท้องคลองเพิ่มความลึกจาก 1.5 เมตร เป็น 3.5 เมตร ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น โดยจะช่วยดึงน้ำที่ท่วมขังและแก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมจากบริเวณแยกมิตรสัมพันธ์ ถนนเพชรบุรี และหน้ากรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท ระบายลงสู่คลองแสนแสบ

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ตลอดแนวคลองแสนแสบมีบ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำ รวม 63 แห่ง ทุกแห่งถูกสร้างขึ้นในปีเดียวกัน คือ เมื่อ 29 ปีก่อน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการปรับปรุงบ่อสูบแม้แต่แห่งเดียว สวนทางกับ 1.ลักษณะกายภาพเมืองที่เปลี่ยนไป มีการก่อสร้างอาคารและตึกสูงเกิดน้ำเสียมาก โดยระบบระบายน้ำไม่เคยถูกพัฒนา ทำให้กำลังสูบไม่เพียงพอ น้ำระบายล่าช้า และ 2.พื้นที่กรุงเทพมหานครทุกปีทรุดตัวลงปีละ 1-2 เซนติเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่มาก ขณะนี้ สำนักการระบายน้ำ กทม.พยายามพัฒนาบ่อสูบตามแนวคลองทั้งหมด และได้มีการเพิ่มบ่อสูบในบางพื้นที่ด้วย

“กำชับให้สำนักการระบายน้ำตรวจสอบบ่อสูบน้ำที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน หากมีความจำเป็นจะต้องจัดสรรงบประมาณกลางปี ให้ดำเนินการทันที” นายจักกพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงการรับมือสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯช่วงนี้ว่า ฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรเมื่อวันที่ 23 กันยายน พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามแนวคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว กทม.คาดว่า หากมีโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำตามแนวคลองแสนแสน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงคลองลาดพร้าว 130 แล้วแสร็จ ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบจะหมดไป รวมถึงโครงการก่อสร้างไปป์ แจ๊กกิ้ง รวม 14 แห่ง โครงการแก้มลิงรับน้ำ 27 แห่ง และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำถาวรอื่นที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ บรรเทาลงด้วย แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาด้วย หากเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แน่นอนน้ำท่วมขังเกิดขึ้นแน่ แต่กทม.ทุกโครงการจะช่วยให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น

 


ที่มา มติชนออนไลน์