ศาลปกครองกลางยกฟ้อง คดี People Go Network เดินเท้า มธ.รังสิต-ขอนแก่น

แฟ้มภาพ

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีการจัดกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ ของกลุ่มเครือข่ายประชาชน People Go Network โดยการเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๔/๒๕๖๑
ซึ่งเป็นคดีระหว่างนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน ผู้ฟ้องคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งคดีนี้ ศาลได้มีคำสั่งเรียกผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๔ เข้ามาเป็นคู่กรณีโดยการร้องสอด โดยกำหนดให้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๔ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ตามลำดับ

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ปิดกั้น ขัดขวาง การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ และมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวซึ่งการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กับผู้ร่วมชุมนุมและให้ชดใช้ค่าเสียหาย

คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เข้าร่วมชุมนุมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่โดยที่ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ดำเนินการชุมนุมสาธารณะเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ตามหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ศาลจึงไม่จำต้องมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ยุติการปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

และเมื่อพิเคราะห์ถึงการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ กับเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กับพวก ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงการชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือศีลธรรมอันดี สุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ตามมาตรา ๔๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่บัญญัติคุ้มครองไว้เช่นเดียวกันแล้ว ฟังว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกตามมาตรา ๑๙ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ ไปโดยชอบแล้ว หาได้ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ อันจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้รับรายงานการรับแจ้งการชุมนุมสาธารณะและแผนการชุมนุมสาธารณะของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้สั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ มิได้มีหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะในช่วงระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ มกราคม ๒๕๖๑ และเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางมาถึงพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ จนกระทั่งสิ้นสุดการชุมนุมในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๖ และที่ ๗ ได้ดำเนินการใดอันมีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เช่นเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๗ มิได้กระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แต่อย่างใด ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง


สำนักงานศาลปกครอง วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑

แฟ้มภาพ