เลขาฯสภาวิศวกร แนะทางออกแบบอาคารขนาดใหญ่ ต้องเป็นวัสดุทนไฟ! เผย 4 ข้อหลักการควบคุมอัคคีภัย

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค สภาวิศวกรจัดงานเสวนาในหัวข้อ “มาตรฐานความปลอดภัยสากลกับอาคารสนามบิน”  โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร บรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางออกแบบอาคารโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้านภัยพิบัติ” ว่า ในการใช้โครงสร้างอาคารนั้น โครงสร้างจะต้องสามารถทนไฟได้ เพราะเคยมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีที่เกิดไฟไหม้โครงสร้างอาคารถล่มลงมาทับคนที่อยู่ในอาคาร และคนที่เข้าไปช่วยเหลือเสียชีวิต ซึ่งการใช้โครงสร้างอาคารแนะนำว่าควรใช้เป็นคอนกรีต เพราะคอนกรีตเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในการทนไฟ แต่ถ้าถึงในจุดๆ หนึ่งก็สามารถพังได้

“ซึ่งถ้าเกิดคอนกรีตโดนความร้อนในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 200 องศา คอนกรีตก็จะไม่เกิดอัตรายใดๆ จากไฟ แต่ถ้าหากความร้อนสูงเกิน 300 องศา ก็จะทำให้คอนกรีตเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติที่สำคัญต่าง ๆ ไป” เลขาธิการสภาวิศวกรกล่าวและว่า

หลักการควบคุมอัคคีภัยแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ การควบคุมเชิงรุก และการควบคุมเชิงรับ การควบคุมเชิงรุก คือ การกระทำโดยมนุษย์ เช่น การส่งคนเข้าไปดับไฟ หรือดับไฟโดยใช้ระบบฉีดน้ำอัตโนมัติ ส่วนการควบคุมเชิงรับ คือ การป้องกันทางอ้อมที่ไม่อาศัยมนุษย์หรือระบบอัตโนมัติ เช่น การเลือกวัสดุที่ติดไปยาก หรือการจัดผังอาคารที่ไม่ให้เกิดการลุกลามไปอาคารอื่น

ทั้งนี้หลักการควบคุมอัคคีภัยได้นั้นต้องประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1.การแจ้งเตือน อาคารควรจะต้องมีสัญญาณที่แจ้งเตือนในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้, 2.ต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟได้ เช่น ระบบการพ่นน้ำแบบอัตโนมัติ, 3.โครงสร้างอาคารต้องสามารถทนไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาคารยิ่งใหญ่ยิ่งทนไฟได้ดี และ 4.จะต้องมีช่องทางการหนีไฟในอาคาร