78รพ.เอกชนประกันสังคม หนุนส่งเสริมสุขภาพ ร่วมเบิกจ่ายราคากลาง8รายการ

สปสช.จับมือ สปส. ดึง รพ.เอกชนระบบประกันสังคม 78 แห่ง เข้าโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร่วมเบิกจ่ายตามราคากลาง 8 รายการ เริ่มปีงบประมาณ 2562

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพัฒนาการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบประกันสุขภาพ สปสช. ให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยปรับรูปแบบการชดเชยค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นการจ่ายตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) จำนวน 8 รายการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริการประชาชนเพิ่มขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคม จำนวน 78 แห่ง เข้าร่วมให้บริการภายในปี 2562 นั้น

เมื่อวันที่ 30 กันยายน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา ประธานอนุกรรมการพัฒนาการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบประกันสุขภาพ สปสช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม สปสช.ได้ร่วมกับ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดการประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงการจ่ายชดเชยค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพแบบตามราคากลางที่กำหนด ปี 2562 ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคม ที่เป็นหน่วยบริการนอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 40 แห่ง เข้าร่วม

“ผลจากการประชุมครั้งนี้ มีโรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคมหลายแห่งที่มีศักยภาพบริการให้ความสนใจเข้าร่วมตามนโยบายนี้ เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มบริการสุขภาพด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาล ตามบริการเฉพาะ 8 รายการ ที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สามารถเบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเดิมจำกัดเฉพาะบริการรักษาที่เบิกจ่ายจากกองทุนประกันสังคมเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยังสามารถขยายการให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้ง 8 รายการนี้ ไปยังประชาชนทั่วไปได้ อาทิ ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นต้น” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวและว่า จากการดำเนินการตามนโยบายนี้ จะมีการประเมินผลเพื่อติดตามการเข้าถึงบริการและผลจากการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานในด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในปีต่อไปให้กับคนไทยทุกสิทธิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 8 รายการ ที่ได้ปรับรูปแบบการจ่ายชดเชยเป็นการจ่ายตามราคากลางที่กำหนด มีดังนี้ 1.บริการตรวจยืนยันโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี 2.บริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป 3.บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด 4.บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 5.บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร การใส่ห่วงอนามัยหรือฝังยาคุมกำเนิด ในกลุ่มหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป 6.บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร การใส่ห่วงหรือฝังยาคุมกำเนิดในหญิงอายุ 20 ปี หรือต่ำกว่า กรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ 7.บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และ 8.บริการฝากครรภ์

 

ที่มา มติชนออนไลน์