กทม.สั่งหน่วยงานจ่ายหนี้น้ำไฟ-เล็งหาช่องจัดงบด่วน 40 ลบ.ใช้บริหารหอศิลป์ปี’62

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก ภายหลังเกิดกรณีพิพาทระหว่างกัน รวมถึงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขาดสภาพคล่องในการบริหารจัดการ โดยมี นายปัญญา วิจินธนสาร รองประธานกรรมการมูลนิธิ นายภราเดช พยัฆวิเชียร นางวรรณพร พรประพา นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการมูลนิธิ นายปวิตร มหาสารินันท์ ผู้อำนวยการหอศิลปฯ สำนักกฎหมายและคดี สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักการคลัง สำนักงบประมาณกทม. และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ที่ศาลาว่าการกทม. ก่อนแถลงผลร่วมกัน

นายทวีศักดิ์ แถลงว่า เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง อนึ่งเป็นเวทีศิลปะระดับโลก จึงมีผลหารือร่วมกัน ดังนี้ 1.ให้สำนักวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว จัดสรรงบประมาณชำระหนี้ค่าน้ำและค่าไฟ โดยให้รับผิดชอบหนี้สินที่เหลือทั้งหมด 2.ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น เช่น เงินอุดหนุน มอบหมายให้สำนักการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักกฎหมาย ศึกษาความเป็นได้ถึงการขอจัดสรรงบกรณีเร่งด่วนให้แก่หอศิลปวัฒนธรรมฯ ใช้บริหารจัดการในปี 2562 วงเงิน 30-40 ล้านบาท พร้อมรายงานผลสัปดาห์หน้า และ 3.การดำเนินการระยะยาวจะต้องร่วมพูดคุยกันอีกครั้ง หลังจากนี้จะมีการประชุมติดตามผลบริหารงานอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง เพื่อรับทราบปัญหาและจะได้แก้ไขทันท่วงที

“ส่วนการขอเงินอุดหนุนปี 2563 เนื่องจากพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และ พ.ร.บ.เงินอุดหนุน ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ทางมูลนิธิจำเป็นต้องจัดแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามสัญญาให้สิทธิ โดยต้องส่งแผนมายังคณะกรรมการพิจารณเงินอุดหนุน ภายในเดือนตุลาคมปี 2562 ส่วนการแก้ไขสัญญาสิทธินั้นอาจสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย” นายทวีศักดิ์ กล่าว

ด้านนายภราเดช แถลงว่า ทางมูลนิธิจะจัดแผนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนให้ทันเวลา อีกทั้ง ขอชี้แจงว่าหอศิลปวัฒนธรรมฯ จัดตั้งขึ้นมาเกือบ 10 ปี บริหารภายใต้คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบริหารภายใต้รูปแบบการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ทางด้านศิลปะและเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อสังคม โดยมูลนิธิพยายามระดมทุนเพื่อใช้บริหารจัดการ แต่เนื่องจากมูลนิธิไม่ใช่เป็นบริษัทเอกชน เน้นแสวงหาผลกำไรสูงสุด ทำให้การบริหารต้องขอรับเงินอุดหนุนของกทม. กระทั่งมีกฎหมายฉบับใหม่ ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางปฎิบัติใหม่และไม่สามารถดำเนินการตามวิธีเดิมได้ งบจึงหยุดชะงัก

นายภราเดช กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าทางมูลนิธิไม่ได้วางแผนหรือเตรียมการรับมือไว้ และกรรมการมูลนิธิชุดปัจจุบันหมดวาระลง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการ จึงไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาได้มีประสิทธิภาพ ส่วนกระแสข่าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทางมูลนิธิก็ไม่เคยร่วมพูดคุยกับกทม.มาก่อน ทำให้ปัญหาบานปลาย มองว่าจำเป็นต้องร่วมพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกร่วมกันเฉพาะหน้าและระยะยาว ซึ่งวันนี้กทม.ยังคงยืนยันว่า การบริหารหอศิลปวัฒนธรรมฯ ต้องไม่ใช่กทม. เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ติดปัญหาบุคลากร ทั้งค่าใช้จ่ายและการบริหารภายใต้เงื่อนไขระบบราชการ จึงต้องหาองค์กรอื่นเข้ามาบริหารจัดการ
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ (ซ้าย) นายปวิตร มหาสารินันท์ (ขวาบน) นายภราเดช พยัฆวิเชียร (ขวาล่าง)

“อนาคตทั้งกทม.และมูลนิธิ มองว่าต้องบริหารผ่านรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่มูลนิธิ อาจเป็นบรรษัทหรือกิจการเพื่อสังคม หรือโซเชียลเอ็นเตอร์ไพร์ส แต่ขณะนี้ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้น การสรรหาคณะกรรมมูลนิธิชุดใหม่ ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาให้ผ่านวิกฤตไปได้ เพื่อให้เมืองยังคงมีพื้นที่ด้านศิลปะวัฒนธรรมหลากหลายและถูกยอมรับในระดับสากล” นายภราเดช กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์