‘บิ๊กอู๋’สั่งแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายใน ตปท. พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อร่วมหารือวางแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) เพื่อบรรเทาปัญหาการลักลอบไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 188,202 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 66,010 คน เป็นการจัดส่งโดยรัฐ (EPS) จำนวน 24,158 คน แรงงานผิดกฎหมาย โดยอยู่เกินกำหนด (Over stay) และลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งแชร์กันมากในโซเชียลมีเดีย รู้จักกันในชื่อ “ผีน้อย” จำนวน 122,192 คน ประเทศไทยได้รับโควต้า 5,000 คนต่อปี

ทั้งนี้ สถานการณ์การลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า “ผีน้อย” มีมานาน โดยสาเหตุของปัญหาเนื่องจากเกาหลีใต้มีอัตราค่าจ้างสูง แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างเกาหลี ขณะที่จำนวนโควตาที่ได้รับมีจำนวนไม่มากนักและมีหลายประเทศ รวมทั้งการไปทำงานต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน ทักษะด้านภาษา และขั้นตอนการจัดส่งใช้เวลานาน/เอกสารจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อขยายตลาดแรงงานไทยในเกาหลี เยี่ยมเยียนคนงานไทยเพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของแรงงานและการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งนายจ้างชาวไทยที่ไปทำธุรกิจในเกาหลีใต้ที่มีความต้องการอยากให้รัฐบาลไทยรับทราบถึงปัญหาและต้องการแรงงานทักษะฝีมือ ตลอดจนเข้าพบและเจรจากับทางการเกาหลีเพื่อแก้ไขปัญหาผีน้อยที่ลักลอบทำงานอยู่ประมาณ 1.2 แสนคน เพื่อดูแลให้กลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนั้น ในวันนี้กระทรวงแรงงานจึงเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยหลักการจะดูแลแรงงานที่ไปให้ถูกต้องก่อน ขณะเดียวกันจะดูแลแรงงานที่ไม่ถูกต้องอย่างไร พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของแรงงานที่จะเดินทางไปใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงไปทำงาน

การแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น 1. กลุ่มที่อยู่แล้ว กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการรองรับที่จะนำแรงงานที่เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมายให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะปลดล็อกแบล็กลิสต์แรงงานไทยในเกาหลีใต้ประมาณ 1.2 แสนคนที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยทางการเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้กลับประเทศของตนเองได้ หากต้องการกลับประเทศโดยสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 โดยผู้ที่สมัครใจกลับประเทศตนเอง ทางการเกาหลีใต้จะไม่ส่งรายชื่อให้ทางราชการ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเดินทางกลับมาอย่างถูกกฎหมายได้อีกครั้ง ทั้งนี้ หากถูกจับได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะถูกส่งกลับและห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้ 10 ปี เมื่อกลับมาประเทศไทยจะต้องมีงานรองรับ และขยายระยะเวลาการทำงานจากเดิมกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้ 2 ช่วง ไม่เกิน 9 ปี เป็น 14 ปี และอายุเกิน 39 ปีได้

สำหรับแรงงานที่มีความซื่อสัตย์สามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับมายังประเทศไทย มีการเพิ่มทักษะฝีมือและภาษาให้กับแรงงานที่จะทำงานต่อ ทั้งยังให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือและสอบภาษาเกาหลีโดยมีคะแนนจาก 88 คะแนน เป็น 95 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนงานไทยดำเนินการในวัดไทยที่สาธารณรัฐเกาหลี และมีศูนย์ดูแลแรงงานเรื่องประกันสังคม

2. กลุ่มที่จะเดินทางไปใหม่ โดยเพิ่มโควตาให้กับแรงงานไทยมาทำงานมากกว่าปีละ 5,000 คน เตรียมความพร้อมโดยการฝึกอบรมภาษา/พัฒนาทักษะฝีมือ/ให้ความรู้ด้านกฎหมายและวัฒนธรรม จัดระบบคัดเลือกด้านภาษาให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาทางด้านเอกสารให้น้อยลง เข้าเป็นผู้ประกันตนของระบบประกันสังคม ตลอดจนรับแรงงานสตรีเพิ่มขึ้น

และ 3. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคน เตรียมการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน และสนับสนุนให้แรงงานไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและช่วยเหลือแรงงานที่ถูกหลอกลวง ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้จัดตั้งชุดเฝ้าระวัง และตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีพฤติกรรมในการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบ เฝ้าระวังพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดี และโพสต์ข้อความเตือนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศไปยัง Facebook ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการดูแลแรงงานที่ไม่ถูกต้อง เมื่อกลับมาประเทศไทย โดยหาตำแหน่งงานให้ทำงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน

อย่างไรก็ตาม หากคนหางานใดประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางาน ซึ่งมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดอยู่ทั่วประเทศก่อนตัดสินใจ อย่าหลงเชื่อคำชักชวน โดยปราศจากข้อมูล โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ ควรเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงาน เช่น ด้านร่างกาย ทักษะฝีมือ ภาษา เป็นต้นคิดให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเดินทาง เช่น ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับค่าจ้างที่จะได้รับ หรือการที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัว เป็นต้น