เขื่อนป่าสักฯ เก็บน้ำได้แล้วกว่าร้อยละ 70 ก่อนหมดฝน คาดทำได้ตามเป้า

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่แหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 18,400 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 11,704 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 6,471 ล้าน ลบ.ม. แยกได้ดังนี้

– เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 8,771 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 4,971 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 61.50 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 8 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 4,691 ล้าน ลบ.ม.

– เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 8,255 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 5,405 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 26.65 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 8.95 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 1,255 ล้าน ลบ.ม.

– เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 687 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 644 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 11.88 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 1.30 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 252 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ภายหลังจากที่กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการเก็บกักน้ำให้ได้ ตามเป้าที่วางไว้ เพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด ก่อนที่จะสิ้นสุดฤดูฝนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 686 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 683 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละประมาณ 3.16 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 274 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนจะสามารถสำรองน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ตามแผนที่วางไว้

สถานการณ์น้ำภาพรวมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในสภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ ในเขตชลประทานอย่างเพียงพอตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ตลอดในช่วงฤดูแล้งหน้านี้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนตลอดไป

ที่มา:มติชนออนไลน์