แถลงการณ์ภาคประชาชน ค้านหมายเรียก อาจารย์ มช.ชี้ประชุมวิชาการไม่ได้เคลื่อนไหวการเมือง

วันที่ 16 สิงหาคม กลุ่มองค์กรเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน 28 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์ กรณี สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียก นายชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ไปพบ ข้อหา มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง มีใจความว่า

“อาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ตามที่ได้มี พันเอกสืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ ไปแจ้งความกล่าวหาว่า ดร.ชยันต์ และพวกรวม 5 คน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ระหว่างการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอีก 4 คน ที่ได้รับหมายเรียกจากกรณีดังกล่าวด้วย คือ นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางภัควดี วีระภาสพงษ์

“พวกเราชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย และองค์กรภาคประชาชนขอยืนยันว่า อาจารย์ชยันต์ คือ ที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนคนทุกข์คนยากมาโดยตลอดชีวิตของอาจารย์ อาจารย์ชยันต์ เป็นผู้นำวิชาการมารับใช้สังคมเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยมาโดยตลอด การประชุมนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่คือ เวทีวิชาการที่ให้ความเห็นต่อประเด็นทางสังคมของประเทศไทย และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมและรัฐไทยควรรับฟัง การแสดงออกของอาจารย์ชยันต์และบุคคลตามหมายเรียกดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ ที่เป็นการแสดงออกทางวิชาการเท่านั้น หาใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและให้สัตยาบันไว้ ได้กำหนดให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีเสรีภาพด้าน ความเห็น การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม นอกจากนี้ คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติซึ่งดูแลการปฏิบัติตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและได้ให้สัตยาบันรับรองไว้เช่นกัน ก็ได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า เสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสิทธิด้านการศึกษา ครอบคลุมถึง “เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี เกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานอยู่ด้วย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือความหวาดกลัวต่อการปราบปรามจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด ความสามารถที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรทางวิชาการหรือหน่วยงานด้านวิชาชีพอื่นใด และการได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกัน”

แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า ซึ่งรัฐไทยในฐานะรัฐภาคีและผู้ให้สัตยาบันจะต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับกติกาทั้งสองฉบับดังกล่าว พวกเราขอยืนยันว่า เสรีภาพทางวิชาการเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐจักต้องเคารพและปกป้องสิทธิ นั้น ไม่ใช่ละเมิดสิทธิเสียเอง และเสรีภาพทางวิชาการย่อมหมายถึงเสรีภาพของประชาชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่ออาจารย์ชยันต์และพวกในทันที และรัฐหรือหน่วยงานใดๆจะต้องไม่ใช้อำนาจแห่งตนในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ได้ใช้สิทธิในการแสดงออกทางวิชาการและแสดงออกทางความเห็นต่างใดๆอีกต่อไป

ทั้งนี้ ภาคประชาชน ที่ร่วมลงนามเรียกร้องดังกล่าวประกอบด้วย 1.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 2.กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ จ.แพร่3. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร 4.เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ 5.สมาพันธ์กะเหรี่ยงแห่งสยาม 6.สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (คสจ.) 7.กลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือ 8.กลุ่มตะกอนยน จ.แพร่ 9.เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน 10.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 11.เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง จ.อุบลราชธานี 12.กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรือง จ.เชียงราย 13.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต 14.สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณะประโยชน์) 15. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 16. เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแจ่มตอนบน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 17.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ 18.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ 19.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา 20.กลุ่มรักษ์เชียงของ 21.ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง 22.กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลับราชภัฏเชียงราย กลุ่มแอทนอร์ท 23. กลุ่ม The Mekong Butterfly 24. สมัชชา 9 เขื่อน 1 แม่น้ำ จ.นครศรีธรรมราช 25.มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 26.สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง 27.เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 28. มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)

 

ที่มา : มติชนออนไลน์